กรมสุขภาพจิต เผยห่วงเด็กติดเกม!! เสี่ยงสมาธิสั้น-ซึมเศร้า-อารมณ์แปรปรวน
5 ก.ค. 2562, 16:16
วันที่ 5 ก.ค. 62 ผู้สื่อข่าวรายงานจาก นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัญหาพฤติกรรมเสพติดเกม เป็นปัญหาจิตเวชเด็กและวัยรุ่นที่พบบ่อย ในอายุระหว่าง 6-18 ปี มีความสัมพันธ์กับชนิดของเกมประเภทต่อสู้ออนไลน์แบบมีผู้ลงแข่งเป็นทีมเป็นหลัก และเกิดโรคร่วมทางจิตเวช เช่น โรคสมาธิสั้น วิตกกังวล ซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน โรคติดสารเสพติด โรคจิต และโรคลมชัก โดยเฉลี่ยเด็กและวัยรุ่นจะใช้เวลาเล่นเกมนาน 5 ชม.ต่อวันและเล่นเกมแข่งขันต่อสู้ออนไลน์ 1 - 4 เกมสลับกันไป ซึ่งเกินระดับความปลอดภัยในการเล่นเกม 9 ชั่วโมง /ต่อสัปดาห์
เด็กมักแสดงอาการหงุดหงิด ก้าวร้าวเมื่อให้เลิกเล่น และมักไม่ทำหน้าที่ตามความรับผิดชอบของตนเองซึ่งเกิดผลกระทบต่าง ๆ ตามมา ได้แก่ ปัญหาการเรียน สอบตก ไม่ยอมไปโรงเรียน ซ้ำชั้น เรียนไม่จบ จากการเล่นนานเกิน 4 ชั่วโมงต่อวันขึ้นไป พฤติกรรมเสี่ยงเรื่องเพศ ผ่านการแชทในห้องเกม ปัญหาการเติมเงิน การซื้อขายและการพนัน พฤติกรรมก้าวร้าวทางวาจา เช่น การด่าทอด้วยภาษาหยาบคาย พฤติกรรมก้าวร้าวทางกาย เช่น การทุบตีคนอื่น อาละวาดทำลายของ คุกคามคนใกล้ชิด รังแกกันทางสื่อสังคมออนไลน์ ใช้สารเสพติด ฆ่าตัวตาย พฤติกรรมการกระทำความผิด ลักขโมยเงิน ย่องเบา เพื่อให้ได้ smartphone การข่มขู่เพื่อให้ได้เงินและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ในวัยรุ่น เป็นต้น
นายแพทย์กิตกวี โพธิ์โน ผอ.รพ.จิตเวชนครพนมราชนครินทร์ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า "โรคติดเกม" (Gaming Disorder) คือ โรคที่เกิดจากพฤติกรรมการเสพติดในทางสมอง มีลักษณะคล้ายการติดสารเสพติด เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาสมอง พัฒนาการ และพฤติกรรมของเด็ก ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการเล่นเกมทางอินเทอร์เน็ต โดยสามารถสังเกตอาการได้ดังนี้
1.ใช้เวลาเล่นเกมนานเกินไป
2.ขาดการควบคุมตนเองในการใช้ชีวิตปกติ เช่น การกิน การนอน
3.เสียหน้าที่การเรียนและการงาน
องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้ โรคติดเกม เป็นหนึ่งโรคทางจิตเวช เป็นโรคที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาสมอง พัฒนาการ และพฤติกรรมของเด็ก
การป้องกันการติดเกม
-ครอบครัวมีส่วนสำคัญในการวางกรอบกติการ่วมกัน กำหนดเวลา ลักษณะเกม และร่วมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว อีกทั้งผู้ปกครองต้องเป็นแบบอย่างที่ดีของผู้มีวินัยแนวทาง
-ไม่ปล่อยให้เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ เล่นไอแพด ไอโฟน แทนการเลี้ยงดูและการได้รับการกระตุ้นพัฒนาการจากพ่อแม่