ศบค.ยันไทยนำเข้ายา "ฟาวิพิราเวียร์" เพียงพอ สั่งสำรองเตียงผู้ป่วยฉุกเฉิน-พื้นที่กักกันเพิ่ม
9 เม.ย. 2563, 17:51
วันนี้ ( 9 เม.ย.63 ) เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ในฐานะโฆษก ศบค. แถลงผลการหารือในโอกาสพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ผ่านระบบ Video Conference โดยนายกรัฐมนตรีชื่นชมพร้อมสั่งดูแลขวัญกำลังใจผู้ทำงานด้วยความเสียสละ โดยเฉพาะบุคลากรกลุ่มเสี่ยงที่ดูแลและเกี่ยวข้องกับผู้ป่วย และยังติดตามการกักตัวเฝ้าระวังผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1. ข้อห่วงใยของนายกรัฐมนตรี
นายกรัฐมนตรีกล่าวในการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้ความห่วงใย 6 ด้าน 1) ชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความเข้าใจก่อนที่จะมีมาตรการใด ๆ ออกมา โดยทั้งโฆษก ศบค. และโฆษกหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ต้องให้รายละเอียดเพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย 2) การบริหารจัดการข้อมูล ด้วยการจัดระเบียบและบูรณาการข้อมูลที่มีจำนวนมากและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาให้เป็นศูนย์ข้อมูลกลาง เพื่อมาวิเคราะห์นำไปสู่การตัดสินใจกำหนดมาตรการภาครัฐต่าง ๆ รวมทั้งให้นำข้อมูลเหล่านี้ไปอธิบายเหตุและผลของแต่ละมาตรการได้ 3) การเดินทางเข้า-ออกประเทศไทย โดยทุกคนที่เดินทางกลับมาประเทศไทย จะต้องถูกกักตัว เพื่อเผ้าระวังในสถานที่ที่รัฐจัดให้ State Quarantine ในส่วนกลางหรือสถานที่ที่พื้นที่จัดเตรียมไว้ Local Quarantine ในส่วนภูมิภาค ด้วยความเข้มงวด จริงจัง ทั้งเพื่ออำนวยความสะดวกและการควบคุมโรค 4) มาตรการเคอร์ฟิว ยืนยันยังไม่มีการปรับเวลาเคอร์ฟิว โดยยังคงอยู่ในช่วงเวลา 22.0 น. - 04.00 น. นอกจากนี้ยังจะมีการรวบรวมอาชีพต่าง ๆ ที่อาจต้องรับการผ่อนผัน 5) หน้ากากอนามัย ได้มีการสั่งซื้อหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ทั้งจากต่างประเทศและภายในประเทศ เพราะบุคลากรทางการแพทย์จะต้องมีใช้อย่างพอเพียง พร้อมทั้งติดตามการผลิตหน้ากากทางเลือกโดยกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อให้ถึงมือประชาชนทั่วไป 6) มาตรการเยียวยา เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบต้องได้รับการดูแล ซึ่งผ่านการลงทะเบียนกว่า 20 ล้านราย หากตรวจสอบพบว่าไม่ถูกต้อง ต้องเรียกเงินคืนหรือมีการลงโทษ
2. สถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในไทย/โลก
ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ 54 ราย รวมผู้ติดเชื้อสะสม 2,423 ราย หายป่วย 940 ราย ครอบคลุม 67 จังหวัด มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 2 ราย โดยผู้เสียชีวิตรายที่ 31 เป็นผู้ป่วยชายสัญชาติฝรั่งเศสอายุ 74 ปี ไม่มีโรคประจำตัว เริ่มป่วย 27 มีนาคม 63 ด้วยอาการไข้ ไอ เหนื่อย และปวดท้อง เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในจังหวัดชลบุรี เอ็กซเรย์พบปอดอักเสบมีผลตรวจยืนยันเป็นไวรัสโควิด-19 ต่อมา 7 เมษายน 63 มีอาการหอบเหนื่อยมากขึ้น ต้องใส่ท่อช่วยหายใจและเสียชีวิตในวันเดียวกัน สำหรับผู้เสียชีวิตรายที่ 32 เป็นผู้ป่วยชายไทยอายุ 82 ปี เริ่มมีอาการป่วย 25 มีนาคม 63 มีอาการไข้ 38.5 องศา ไอ เหนื่อย รักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการ แพทย์ต้องใส่ท่อช่วยหายใจแต่ผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้นและไม่รู้สึกตัว เสียชีวิต 8 เมษายน 63 ซึ่งต้องขอแสดงความเสียใจกับญาติของทั้ง 2 รายด้วย
การหาความเชื่อมโยงของผู้ป่วยรายใหม่ 54 รายว่า พบว่ามาจาก 2 กลุ่มใหญ่ โดย 49 รายแบ่งเป็น 1. กลุ่มที่มีประวัติเสี่ยง สัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันรายเก่า 22 ราย 2. ผู้ป่วยอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยก่อนหน้านี้ 21 ราย และกลุ่ม 3. อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค 6 ราย โฆษก ศบค. ย้ำ นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญและสนใจสถิติต่าง ๆ และเข้าใจถึงความเจ็บไข้ได้ป่วยซึ่งห้ามไม่ได้ จึงต้องหาแนวทางป้องกัน
การกระจายตัวของผู้ป่วยสะสม 2,423 รายใน 67 จังหวัด พบมีจังหวัดที่ไม่มีการรายงานผู้ป่วย 10 จังหวัด ภูเก็ตยังเป็นอันดับที่ 1 สำหรับอัตราการป่วยของคนในจังหวัดต่อจำนวนประชากรแสนคน ภูเก็ต อยู่ที่ 38.95 คนต่อประชากรแสนคน กรุงเทพฯ 21.9 คนต่อประชากรแสนคน ยะลาอยู่ที่ 13.1 คนต่อประชากรแสนคน ซึ่งเชื่อมโยงกับ Import Case ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้กลับมาสูงขึ้น เพราะกลับมาจากอินโดนีเซียทำให้ตัวเลขต่าง ๆ ขยับขึ้นบ้าง
แผนภูมิแสดงการเปรียบเทียบระหว่างกรุงเทพฯ นนทบุรี และต่างจังหวัด เมื่อวานนี้ที่แท่งสีแดงพุ่งขึ้นมาเพราะอยู่ใน State Quarantine 42 ราย แต่วันนี้น่าจะเป็นของจริง เมื่อ 7 เมษายน 63 เราดีใจว่าคนของเราติดอยู่ 38 ราย แต่วันนี้ 54 ราย ฉะนั้น ยังไม่เป็นที่พึงพอใจแน่นอน ยังต้องเข้มกันต่อ ต้องพยายามเข้มงวดทุกมาตรการ ทั้งส่วนตัวและทั้งสังคม ทั้งนี้ การกระจายตัวของกรุงเทพฯ นนทบุรี จะเห็นสีแดงเต็มทั้งหมด
สถานการณ์โรคโควิด-19 ในบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยชุดวิเคราะห์จากกรมควบคุมโรค ย้อนหลังกลับไปดูตั้งแต่มกราคม 63 ถึง 8 เมษายน 63 พบมีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อ 80 ราย ถือเป็น 3.4 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยทั้งหมด เป็นกลุ่มที่ติดเชื้อจาก 1. โรงพยาบาล 50 ราย คิดเป็น 60.5 เปอร์เซ็นต์ โดยเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน แผนกฉุกเฉิน ทันตกรรม ห้องปฏิบัติการ และพนักงานสนับสนุน 2. ติดเชื้อในชุมชน 18 ราย คิดเป็น 22.5 เปอร์เซ็นต์ และ 3. อยู่ระหว่างการสอบสวนอีก 12 ราย ชุดข้อมูลผู้ติดเชื้อที่ปรากฏ คือ เป็นผู้ช่วยพยาบาล จำนวน 36 ราย คิดเป็นร้อยละ 45 เป็นแพทย์ 16 ราย คิดเป็นร้อยละ 20 ซึ่งเมื่อติดเชื้อแล้วต้องหยุดงานดูอาการ ทั้งหมอและพยาบาลก็ต้องโดน Quarantine ด้วย ผลที่ตามคือกระทบต่อการให้บริการต่อประชาชนทั้งหมดเพราะหมอมีจำนวนน้อยลง
โฆษก ศบค. กล่าวถึงสาเหตุของการพบผู้ป่วยรายแรกในจังหวัดต่าง ๆ และมาตรการป้องกันเชิงรุกที่พบผู้ป่วยรายแรกของจังหวัดที่มีความสัมพันธ์กับต่างประเทศ เป็นผู้ป่วยชาวต่างชาติ ผู้ป่วยชาวไทยติดเชื้อจากต่างประเทศ ผู้ป่วยชาวไทยติดเชื้อจากร่วมพิธีศาสนา ขณะที่ผู้ป่วยรายแรกของจังหวัดที่เดินทางมาจากกรุงเทพฯ เป็นผู้ป่วยที่ไปสนามมวยหรือสัมผัสผู้ป่วยจากสนามมวย สถานบันเทิง และอื่น ๆ ดังนั้น เมื่อป่วยแล้วต้องเข้า State Quarantine ถ้าเดินทางมาจากต่างประเทศก็ต้องขอให้เข้า State Quarantine สำหรับเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรมได้ออกประกาศกระทรวงวัฒนธรรม เรื่อง แนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับเทศกาลประเพณีสงกรานต์ เช่น งดเว้นการจัดงานสงกรานต์ในทุกระดับ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเห็นชอบด้วย ขอให้งดเว้นการเดินทางกลับภูมิลำเนา ให้อยู่ในภูมิลำเนาหรือที่ตั้ง งดเว้นการรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ในทุกกรณี และงดการเข้าร่วมกิจกรรมที่มีการรวมตัวของคนหมู่มาก หรือเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคระบาดโดยเด็ดขาด ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของ ศบค. หากต้องการสืบสานประเพณีสงกรานต์ ขอให้สรงน้ำพระพุทธรูปที่บ้าน ไม่ต้องไปวัด แสดงความกตัญญูกับพ่อแม่ด้วยการกราบไหว้ขอพร เว้นระยะห่างให้ท่านประมาณ 1-2 เมตร เพราะผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเสี่ยงในการเสียชีวิตมากที่สุด หรือขอพรออนไลน์ โดยขอให้ช่วยกัน เป็นมาตรการที่สอดคล้องกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับกระทรวงวัฒนธรรม
โฆษก ศบภ. ยังกล่าวถึงมาตรการของจังหวัดต่าง ๆ ด้วยว่า จังหวัดชลบุรีมีการปิดเมืองพัทยาอย่างเป็นทางการตั้งแต่เวลา 14.00 น. วันที่ 9 เมษายน 63 เป็นต้นไป รวม 21 วัน โดยปิดทางเข้า-ออก เมืองพัทยาเหลือ 5 จุด เนื่องจากชลบุรีเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีอัตราการติดเชื้อสูง จึงต้องมีการตั้งจุดตรวจคุมเข้ม คนเข้า-ออก ทั้งยานพาหนะและบุคคล หากไม่ได้อยู่อาศัยหรือทำงาน มีเหตุจำเป็นในพัทยา จะไม่ให้เข้า-ออก จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ขณะที่จังหวัดบึงกาฬ ยังไม่พบผู้ติดเชื้อแต่มีมาตรการห้ามบุคคลเข้า-ออกในพื้นที่ ตั้งแต่ 7-30 เมษายน 63 เว้นแต่เพื่อประโยชน์ในการรักษาพยาบาล การทำให้ปลอดภัยจากเชื้อโรค การควบคุมป้องกันโรคจะเห็นว่าทั้งจังหวัดที่มีการติดเชื้อสูง กับจังหวัดที่ยังไม่มีผู้ติดเชื้อ ก็สามารถออกมาตรการต่าง ๆ เหล่านี้ได้ ที่สำคัญคือเมื่อจังหวัดออกมาตรการแล้ว ประชาชนต้องให้ความร่วมมืออย่างดีด้วย
สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด -19 ของโลก พบตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ประมาณ 150,0000 คน เสียชีวิตไป 88,000 กว่าคน โดยสหรัฐอเมริกายังเป็นอันดับที่ 1 พบผู้ติดเชื้อ 450,000 กว่าคน เสียชีวิตไป 14,000 กว่าคน สเปน ผู้ติดเชื้อสะสมประมาณ 140,000 คน อังกฤษ ผู้ติดเชื้อสะสม 60,000 กว่าคน โดยประเทศไทย (เมื่อวานนี้) อยู่ในอันดับที่ 44 ขณะนี้ ทั้ง สหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศส พบมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นบทเรียนสำหรับประเทศไทย ขณะที่เยอรมันเป็นประเทศที่เห็นทิศทางการลงของตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ดี ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของประชาชนในประเทศเยอรมันที่มีความเข้มงวด ปฏิบัติตามระเบียบ จึงอยากให้คนไทยอยู่ในระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัดภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน และต้องการให้ทุกคนดูแลตนเอง สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ในกลุ่มประเทศอาเซียนยังเพิ่มขึ้นทั้งอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ซึ่งมีคนไทยที่จะเดินทางจากอินโดนีเซียกลับมาประเทศไทยด้วย จึงต้องมีมาตรการเข้มงวดในการดูแลและตรวจเช็คก่อนเข้าประเทศอย่างดี
3. รายงานผลการปฏิบัติการจากการประกาศเคอร์ฟิว
รายงานผลการปฏิบัติการวานนี้ (8 เม.ย.63 ) มีการจัดตั้ง 926 จุดตรวจ พบว่ามีการตักเตือน 131 ราย ดำเนินคดีไปแล้ว 1,204 ราย โดยยังมีประชาชนที่ละเมิดกฎหมายเพิ่มขึ้นจากเมื่อวานเกือบ 200 ราย จึงขอวิงวอนประชาชนร่วมมือร่วมใจอยู่บ้านให้มากที่สุด ลดการละเมิดกฎหมายที่วางไว้
4. มาตรการเดินทางเข้า-ออกประเทศไทยของคนไทย
กระทรวงการต่างประเทศรายงานว่า มีคนไทยรอกลับประเทศในกลุ่มที่เดินทางทางอากาศจำนวน 5,453 คน กลุ่มที่เดินทางผ่านด่านมาเลเซียอย่างไม่เป็นทางการจำนวน 4,000 กว่าคน แต่คาดว่าน่าจะมีจำนวนมากเป็นหมื่นคน มีคนไทยลงทะเบียนกลับประเทศแล้วทั้งมด 14,664 คน มีผู้เดินทางกลับเข้ามาแล้วจำนวน 12,771 คน ซึ่งจะมีการเดินทางเข้ามาอีกเรื่อย ๆ จนถึงวันที่ 18 เมษายน 63 ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญมากในเรื่อง State Quarantine และ Local Quarantine ซึ่งศักยภาพในการดูแลได้ต่อวันประมาณ 200 คน ที่ประชุม ศบค. จึงมีข้อสรุปว่า หากยังไม่เดือดร้อนและสามารถอยู่อาศัยในประเทศนั้น ๆ ได้ต่อ ขอให้อยู่ต่อที่ต่างประเทศก่อน สำหรับผู้ที่มีปัญหา รัฐบาลอาจจะมีมาตรการงบประมาณเพิ่มเติม เพื่อให้อาศัยอยู่ที่ในพื้นที่นั้น ๆ ต่อไปก่อน เพราะการเดินทางผ่านแดน เจอคนหมู่มาก การเดินทางบนเครื่องบินเป็นเวลานาน ๆ ล้วนมีความเสี่ยง สำหรับกลุ่มที่ตั้งใจเดินทางกลับต้องทำตามลำดับขั้นตอนในการเดินทางเข้าประเทศอย่างเคร่งครัด คือ มีใบรับรองแพทย์ไม่เกิน 72 ชั่วโมง ต้องมีการ Quarantine ตัวเองก่อนเดินทางกลับเป็นเวลา 14 วัน และจะต้องยินยอมที่ได้ทำการ State Quarantine หลังจากเดินทางกลับเข้ามาแล้ว ซึ่งอาจจะเพิ่มเติมในเรื่องการตรวจ Test ก่อนการเดินทางเพื่อให้ได้ผลไวขึ้น ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและปลัดกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมดำเนินการ
5. การเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ
กระทรวงกลาโหมรายงานการเตรียมความพร้อมของพื้นที่รองรับหรือ State Quarantine ว่ามีทั้งหมดจำนวน 2,037 ห้อง หากต้องให้นอนเดี่ยวจะต้องหาเพิ่มอีกจำนวน 1,500 ห้อง กระทรวงมหาดไทย รายงานต่อว่าตอนนี้มีพื้นที่อยู่จำนวน 460 แห่ง สามารถเข้าพักได้ 13,000 กว่าคน โฆษก ศบค. ย้ำว่านายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทยบูรณาการ โดยสถานที่ของกระทรวงมหาดไทยจะเป็น Local Quarantine ที่จะอยู่ตามต่างจังหวัด เช่น ในกรณีที่มีผู้เดินทางกลับมาจากอินโดนีเซีย จะให้ Quarantine อยู่ที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในพื้นที่ที่รัฐจัดให้ ไม่จำเป็นจะต้องเดินทางมากักตัวไกลถึงกรุงเทพมหานคร
ขณะเดียวกัน ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาธร ในฐานะเป็นที่ปรึกษาฯ ได้รายงานว่าในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีโรงพยาบาลที่รองรับสถานการณ์ที่ร้ายที่สุดนี้ทั้งหมด 98 แห่ง พบว่ายังขาด ICU อีกอย่างน้อย 80 เตียง ในส่วนอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่น ๆ เช่น เครื่องช่วยหายใจ มีเพียงพอต่อการดูแลผู้ป่วย เนื่องจากได้รับพระราชทานมาแล้วก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขดูแลในส่วนการเพิ่มเตียง ICU อีกจำนวน 80 เตียง โดยให้ใช้สถานที่ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ เพื่อเป็นประโยชน์ในอนาคตต่อไป
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รายงานถึงค่าใช้จ่ายในการรักษา ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติให้รัฐจะต้องเป็นผู้ดูแลได้ทั้งหมด ทั้งนี้จะต้องตรวจสอบจาก พ.ร.บ.โรคติดต่อ และ พรก.ฉุกเฉิน ทั้งหลาย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ขณะเดียวกันจะต้องไม่ผิดระเบียบในหลักปฏิบัติ ซึ่งรัฐบาลมีเจตนาที่ดีต่อประชาชน ให้ประชาชนได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด
ยา Favipiravir มียานำเข้ารวมทั้งหมด 187,000 เม็ด ใช้ไปแล้วกว่า 47,518 เม็ด คงเหลืออยู่ประมาณ 139,482 เม็ด ใช้ตามที่มีข้อบ่งชี้โดยคณะกรรมการทางการแพทย์เป็นผู้ประเมิน ไม่ได้ใช้ในผู้ป่วยทุกราย ทำให้สามารถสบายใจได้ว่าขณะนี้ยายังมีเพียงพอ
หน้ากากอนามัย N 95 กระทรวงสาธารณสุขร่วมกันกับกระทรวงพาณิชย์และฝ่ายปกครองทั้งหลายนำเข้ามาถึงแล้ว 200,000 ชิ้น ประกอบกับมีการวิจัยว่า หน้ากากอนามัย N95 สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ โดยนำไปเข้าเครื่องอาบรังสี เป็นเวลา 30 นาที สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ถึง 4 ครั้ง ทำให้ช่วยประหยัดงบประมาณของรัฐได้ สำหรับหน้ากากอนามัยอื่น ๆ มีการติดตามไปถึงระดับจังหวัด อำเภอ และโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง ด้านหน้ากากผ้าจากกระทรวงมหาดไทย 50 ล้านชิ้น และกระทรวงอุตสาหกรรม 20 ล้านชิ้น ได้ทำการจัดส่งเพื่อกระจายสู่พี่น้องประชาชนแล้ว