สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ แนะนำหลากวิธีถ่ายภาพ “ซูเปอร์ฟูลมูน” ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี คืนนี้
8 เม.ย. 2563, 11:22
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) แนะนำหลากวิธีถ่ายภาพ “ซูเปอร์ฟูลมูน” ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี คืนวันที่ 8 เมษายนนี้
นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า ในวันพุธที่ 8 เมษายนนี้ จะเกิดปรากฏการณ์ “ซูเปอร์ฟูลมูน” หรือ “ดวงจันทร์เต็มดวงเข้าใกล้โลกที่สุดในรอบปี” เป็นโอกาสดีสำหรับการถ่ายภาพดวงจันทร์
ซึ่งสามารถถ่ายได้หลากหลายรูปแบบ อาทิ การถ่ายภาพดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกเปรียบเทียบกับช่วงเต็มดวงไกลโลกด้วยอุปกรณ์เดียวกัน เป็นรูปแบบที่นักดาราศาสตร์นิยมถ่ายภาพกันมากที่สุด แต่ต้องรอเวลาหลายเดือนเพื่อให้ได้ภาพช่วงดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกมากที่สุด หรือ “ไมโครฟูลมูน” (Micro Full Moon) โดยในปีนี้เกิดขึ้นตรงกับวันที่ 31 ตุลาคม 2563 การถ่ายภาพดวงจันทร์เปรียบเทียบขนาดกับวัตถุบริเวณขอบฟ้า หรือ “Moon Illusion” เพื่อแสดงให้เห็นขนาดปรากฏของดวงจันทร์ในช่วงใกล้โลกมากที่สุด การถ่ายภาพดวงจันทร์ใกล้โลกกับบุคคล การถ่ายภาพดวงจันทร์เปรียบเทียบกับวัตถุบนท้องฟ้า (เครื่องบิน)
ผู้ที่สนใจสามารถรอชมปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี” หรือ “ซูเปอร์ฟูลมูน” และเก็บภาพความสวยงามของดวงจันทร์กันได้ ในวันดังกล่าวดวงจันทร์จะขึ้นทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลาประมาณ 19.00 น. เป็นต้นไป ปรากฏบนท้องฟ้าตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า