เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



กรมการแพทย์ ไขกระจ่าง "โควิด-19" ติดต่อผ่านทาง "ดวงตา" ความเป็นไปได้ต่ำมาก


26 มี.ค. 2563, 14:48



กรมการแพทย์ ไขกระจ่าง "โควิด-19" ติดต่อผ่านทาง "ดวงตา" ความเป็นไปได้ต่ำมาก




กรมการแพทย์ ล่าสุด ได้ออกให้ความกระจ่าง ต่อข้อข้องใจของใครหลายคน กรณีโรคโควิด-19 ว่าสามารถติดต่อผ่านทางดวงตาได้หรือไม่ โดยแพทย์หญิงสายจินต์ อิสีประดิฐ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กล่าวว่า โรคที่เกิดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ มีอาการเหมือนไข้หวัดใหญ่มีการศึกษาวิจัยในประเทศจีน พบว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อ COVID-19 จะมีอาการตาแดงร่วมด้วยประมาณ 0.8 % เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีรายงานการตรวจพบเชื้อไวรัสนี้ในน้ำตา และสารคัดหลั่งเยื่อบุตาอีกด้วย 


ซึ่งปัจจุบันเชื้อไวรัสนี้สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้โดยได้รับสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย ที่มีเชื้อโรคผ่านทางระบบทางเดินหายใจ และจากสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ มีคำถามที่ประชาชนให้ความสนใจว่า “แล้วไวรัสชนิดนี้จะติดต่อทางดวงตาได้หรือไม่” 



แพทย์หญิงดวงดาว ทัศณรงค์ จักษุแพทย์เชี่ยวชาญโรงพยาบาลเมตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กล่าวชี้แจ้งว่า เนื่องจากดวงตามีทางติดต่อกับโพรงจมูกโดยมีการระบายน้ำตาและสารคัดหลั่งเยื่อบุตาผ่านท่อระบายน้ำตาเข้าสู่โพรงจมูก ดังนั้น ถ้าได้รับเชื้อเข้าสู่ดวงตาในปริมาณที่มากพอ เช่น ถูกไอหรือจามใส่หน้าโดยตรงและมีสารคัดหลั่งที่มีเชื้อไวรัสชนิดนี้เข้าสู่ดวงตา ก็อาจจะมีความเป็นไปได้ที่ สารคัดหลั่งเหล่านี้จะถูกระบายเข้าสู่โพรงจมูก แต่โดยทั่วไปแล้ว ไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคCOVID-19 ไม่สามารถลอยอยู่ในอากาศได้ด้วยตัวมันเอง แต่จะอยู่ในน้ำมูก หรือน้ำลายของผู้ป่วยที่ถูกไอ หรือจามออกมา ดังนั้น ถ้าเราอยู่ในสิ่งแวดล้อมปกติโดยทั่วไป โอกาสที่จะมีไวรัสลอยเข้ามาสู่ดวงตา และระบายเข้าสู่เยื่อบุโพรงจมูกนั้น เป็นไปได้ต่ำมาก 

 

และปัจจุบัน ยังไม่มีรายงานการติดเชื้อผ่านทางดวงตา ส่วนการติดเชื้อจากการได้รับเชื้อจากน้ำตาหรือสารคัดหลั่งเยื่อบุตาของผู้ป่วยนั้น เนื่องจากมีรายงานการพบเชื้อ COVID-19 ในน้ำตาและสารคัดหลั่งเยื่อบุตา ดังนั้น ถ้ามีการสัมผัสของสารคัดหลั่งดังกล่าวจากตาผู้ติดเชื้อ และนำเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ก็อาจมีโอกาสที่จะติดเชื้อได้ ถ้าในสารคัดหลั่งดังกล่าวมีเชื้อไวรัสชนิดนี้อยู่ 


ซึ่งมีข้อมูลเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2563 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่าการะบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ แต่ยังไม่ประกาศจำกัดการเดินทางสำหรับประเทศไทยได้ประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นโรคติดต่ออันตราย ลำดับที่ 14 ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ประกาศ ณ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 และประกาศให้ประเทศจีน เกาหลีใต้อิตาลี และอิหร่าน เป็นเขตโรคติดต่ออันตราย เมื่อวันที่ 5 มีนาคุม 2563 แนะนำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินทางไปเขตโรคติดต่ออันตราย หากไม่มีความจำเป็นกรณีที่จำเป็นต้องเดินทางไปพื้นที่ที่มีการระบาด ควรปฏิบัติตนตามคำแนะนำวิธีป้องกันตนเองจากเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัด 

 

โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด หรือมีมลภาวะและไม่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยไอ จาม เลือกรับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุก ทั้งเนื้อสัตว์ไข่ และผักสด ผลไม้ หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอด้วยน้ำ และสบู่นานอย่างน้อย 20 วินาที หรือแอลกอฮอล์เจลล้างมือลูบมือจนกว่าจะแห้งไม่นำมือมาสัมผัสตา จมูก ปาก โดยไม่จำเป็นไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น (เช่น ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว) เนื่องจากเชื้อก่อโรคทางระบบทางเดินหายใจสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทางการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ

 

รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหากมีความจำเป็นต้องเดินทางไปพื้นที่เสี่ยงต่างประเทศ เมื่อหลังเดินทางเข้าประเทศไทย ภายใน 14 วัน แนะนำให้สังเกตอาการ หากมีไข้ ร่วมกับอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอมีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ ให้สวมหน้ากากอนามัย แล้วล้างมือ และรีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที พร้อมทั้งแจ้งประวัติการเดินทาง เนื่องจากมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน ปอดบวม และอาการรุนแรง ถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สอบถามได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.