ตะลึงอีก ! ค้นพบสัตว์ทะเล สปีชีส์ใหม่ ที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน ใต้ร่องลึกก้นสมุทร
7 มี.ค. 2563, 14:18
ฟอร์บส รายงานว่า ค้นพบแอมฟิพอด (Amphipod) สปีชีส์ใหม่ ที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน ที่ร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนา (Mariana Trench) ซึ่งเป็นจุดที่ลึกที่สุดในโลก การค้นพบครั้งนี้เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นและน่าเศร้าใจในเวลาเดียวกัน เพราะแม้ว่าสัตว์ตัวจิ๋วตัวนี้จะอาศัยอยู่ในจุดที่ลึกมากที่สุด ขยะพลาสติกก็ยังคงตามไปถึง แอมฟิพอดดังกล่าวคือ สัตว์ทะเลเปลือกแข็ง (crustacean) คล้ายกุ้งหรือกั้ง มันมีลำตัวขนาดเล็ก ความยาวประมาณ 2 นิ้ว จุดที่พบมันคือบริเวณความลึก 20,000 ฟุต หรือประมาณ 6,096 เมตร ของร่องมาเรียนา ซึ่งมีความลึกมากกว่า 36,000 ฟุต หรือกว่า 11,000 เมตร
ทีมนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษที่ค้นพบสัตว์ตัวจิ๋วตัวนี้ ได้ตั้งชื่อให้มันว่า Eurythenes plasticus ตามชื่อเศษพลาสติกที่อยู่ในตัวมัน ไมโครพลาสติกที่พบในตัว Eurythenes plasticus คือ พอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต (polyethylene-terephthalate) สามารถพบได้ทั่วไปในเสื้อผ้าใยสังเคราะห์ บรรจุภัณฑ์ใส่อาหาร และขวดน้ำพลาสติก
ชื่อที่เจ้าตัวจิ๋วนี้ได้รับนั้น ทีมนักวิทยาศาสตร์คาดว่าหวังว่ามันจะสร้างให้เกิดความตระหนักรู้ว่า ปัญหาขยะพลาสติกนั้นส่งผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมมากแค่ไหน