คืบหน้า!! คดีลำห้วยคลิตี้ปนเปื้อนสารตะกั่ว ศาลกาญจนบุรี สั่ง คพ. ฟื้นฟูลำห้วยกลับมามีสภาพเดิม
27 มิ.ย. 2562, 19:56
วันนี้ (27 มิ.ย.62) ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า จากกรณีการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้เนื่องจากการทำเหมืองแร่ จนทำให้ชาวบ้านได้รับความเจ็บป่วย ตลอดจนเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การฟ้องคดีโดยชาวบ้านคลิตี้ 8 คน ฟ้องบริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด กับผู้บริหารของบริษัทเป็นจำเลย รวม 2 ราย ซึ่งต่อมามีคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 15219/2558 ให้จำเลยร่วมกันชำระเงินค่าเสียหายแก่โจทก์และให้จำเลยแก้ไขฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสองจนกว่าลำห้วยคลิตี้จะกลับมามีสภาพที่สามารถใช้อุปโภคบริโภคได้ตามมาตรฐานของทางราชการ
ในคดีนี้หลังจากที่บริษัทตะกั่วฯ จำเลยกับพวกได้ชำระเงินค่าเสียหายแก่โจทก์แล้ว จำเลยละเลยไม่ดำเนินการตามคำพิพากษาศาลฎีกาในส่วนของการแก้ไขฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ โจทก์จึงยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดกาญจนบุรี ขอให้เรียกจำเลยมาไต่สวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินการฟื้นฟูตามคำพิพากษาศาลฎีกา แต่ศาลยกคำร้องเนื่องจากไม่ปรากฏว่าจำเลยไม่ดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ตามคำพิพากษา
ต่อมาวันที่ 21 ก.พ.62 ทนายความจากสภาทนายความร่วมกับมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดกาญจนบุรี ขอให้กรมควบคุมมลพิษ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกในคดีนี้และอยู่ระหว่างการดำเนินการตามแผนการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ปี 2561-2563 ในวงเงิน 454,762,865.73 บาท ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เข้ามาดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้แทนจำเลย โดยให้จำเลยเสียค่าใช้จ่ายที่กรมควบคุมมลพิษดำเนินการไป ตามนัยของ มาตรา 358 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่แก้ไขใหม่ ซึ่งศาลจังหวัดกาญจนบุรี มีคำสั่งนัดไต่สวนโจทก์ จำเลยและกรมควบคุมมลพิษ วันที่ 22 เม.ย.62
และศาลได้เลื่อนนัดไต่สวนโจทก์ จำเลย ในคดีหมายเลขดำที่ พ.106/2546 และคดีหมายเลขแดงที่ 1565/2549 ระหว่างนายกำธร ศรีสุวรรณมาลา ที่ 1 กับพวกรวม 8 คน (โจทก์) กับ บริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ 1 กับพวกรวม 2 คนในวันที่ 11 มิ.ย.62 ที่ผ่านมา ซึ่งในวันดังกล่าวนั้น ศาลไต่สวนพยานจำนวน 3 ปาก ซึ่งเป็นตัวแทนโจทก์ 2 ปาก ตัวแทนกรมควบคุมมลพิษ 1 ปาก และหลังจากไต่สวนแล้วเสร็จ ศาลได้มีคำสั่งนัดฟังคำสั่งในวันที่ 27 มิ.ย.62 เวลา 13.30 น.
ล่าสุดเมื่อเวลา 13.30 น. นายกำธร ศรีสุวรรณมาลา (โจทก์) นายยะเสอะ นาสวนสุวรรณ น.ส.ชยาวีร์ หวังเจริญรุ่ง นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการพิเศษ กรมควบคุมมลพิษ พร้อมด้วย นายสุรสีห์ พลไชยวงศ์ ทนายความ สภาทนายความจังหวัดกาญจนบุรี นายสุรชัย ตรงงาม ทนายความจากสภาทนายความ นางภินันทน์ โชติรสเศรนีย์ ประธานกลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ ได้เดินทางมาตามที่ศาลจังหวัดกาญจนบุรี นัดให้มาฟังคำสั่ง โดยมีเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ตัวแทนจำเลยที่ 1 เดินทางมารับฟังด้วย โดยศาลใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงจึงแล้วเสร็จ
จากนั้น นายสุรชัย ตรงงาม ทนายความจากสภาทนายความ ออกมาเปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า ตามที่เราร้องขอต่อศาลเพื่อให้ทางศาลมีคำสั่งอนุญาตให้กรมควบคุมมลพิษเข้าไปฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ โดยให้เรียกค่าใช้จ่ายจากผู้ประกอบการ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาทางแพ่ง มาตรา 358 ซึ่งวันนี้ศาลได้พิจารณาไต่สวนไปแล้ว โดยมีคำสั่งอนุญาตให้กรมควบคุมมลพิษ เข้ามากระทำการฟื้นฟูแทนผู้ประกอบการได้ โดยศาลให้กรมควบคุมมลพิษ ทำรายละเอียดเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเรื่องการฟื้นฟูมาเสนอต่อศาล เพื่อที่จะนำไปสู่การบังคับคดีกับผู้ประกอบการที่ไม่ยอมมาฟื้นฟู โดยกรณีนี้ถือว่าเป็นคดีแรกที่เกิดขึ้นในประเทศไทยที่ศาลท่านมีคำสั่งแบบนี้
ส่วนตัวมองว่าจะกลายเป็นบรรทัดฐานอย่างหนึ่ง ที่จะทำให้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบเกี่ยวกับการฟื้นฟู หากมีคำพิพากษาว่าให้ผู้ประกอบการดำเนินการฟื้นฟู้แก้ไขมลพิษ แต่ผู้ประกอบการยังเพิกเฉย มันก็จะเป็นช่องทางนำไปสู้เส้นทางการบังคับคดีได้ โดยอาจจะประสานงานกับหน่วยงานรัฐที่มีอำนาจ เช่น กรมควบคุมมลพิษ หรือกรมต่างๆ ที่มีอำนาจหน้าที่เข้ามาดำเนินการแก้ไข และจากนั้นให้กรมดังกล่าวไปเรียกเอาค่าใช้จ่ายจากผู้ก่อมลพิษ สิ่งเหล่านี้จะเป็นแนวทางนำไปแก้ไขปัญหามลพิษในชุมชนได้
ถามว่า แผนการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ปี 2561-2563 ในวงเงิน 454,762,865.73 บาท ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่กรมควบคุมพลพิษ กำลังดำเนินการฟื้นฟูอยู่ในขณะนี้ งบประมาณจำนวนดังกล่าวถือว่าสูงมาก เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ ผู้ก่อมลพิษจะสามารถนำเงินจำนวนนี้มาใช้คืนหรือไม่ เรื่องนี้ต้องต้องถามทางจำเลย เนื่องจากทางจำเลยนั้นเพิกเฉยไม่ยอมติดต่อมา แต่ขอเรียนว่าการนำงบมาฟื้นฟูเข้าใจว่าไม่ใช่แค่ 400 กว่าล้านบาท แต่น่าจะมากกว่า 500 ล้านบาท โดยงบ 400 กว่าล้านบาทนั้นเป็นเพียงแค่งบในการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้เท่านั้น แต่อันที่จริงแล้วมันจะต้องประกอบไปด้วยค่าใช้จ่ายสำหรับการที่กรมควบคุมมลพิษที่จะเข้าไปตรวจ วิเคราะห์ถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น การตรวจน้ำ ตรวจสัตว์น้ำ ตรวจดิน ตรวจพืช ตรวจผัก เป็นต้น ซึ่งผมเข้าใจว่ามันน่าจะต้องใช้งบประมาณมากกว่า 500 ล้านบาทอย่างแน่นอน
ด้านนางภินันทน์ โชติรสเศรณี ประธานกลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ กล่าวว่า จากการที่กลุ่มอนุรักษ์ได้ร่วมต่อสู้คดีนี้มากว่า 20 ปี ถึงตรงนี้เรารู้สึกดีใจที่ศาลท่านได้ตัดสินออกมาแบบนี้ เพราะทำให้ชุมชนได้รับความยุติธรรม และได้ให้โทษกับคนที่ทำให้สิ่งแวดล้อมเสียหายด้วย คือผู้กระทำต้องรับผิดชอบ โดยปกติเมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา เงินที่ได้มาเป็นเพียงแค่ตัวหนังสือ ไม่สามารถนำออกมาใช้จ่ายอย่างเป็นรูปธรรมได้
ส่วนนายกำธร ศรีสุวรรณมาลา ในฐานะโจทก์ที่ยื่นร้อง เปิดเผยว่า ถึงตรงนี้แล้วตนก็รู้สึกดีใจที่ศาลท่านได้มีคำพิพากษาออกมาในวันนี้ สำหรับงบประมาณในการนำมาฟื้นฟู อันที่จริงแล้วจะต้องไม่นำเงินภาษีของประชาชนมาเป็นค่าฟื้นฟู แต่จะต้องเป็นเงินที่ได้มาจากผู้ก่อมลพิษ เพราะตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ผู้ก่อมลพิษ กอบโกยรายได้จากการทำเหมืองแร่ดังกล่าวไปหลายหมื่นๆ ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดเมื่อเวลา 16.30 น. นายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนาและอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ เปิดเผยว่า วันนี้ศาลจังหวัดกาญจนบุรี มีคำสั่งอนุญาตให้กรมควบคุมมลพิษดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
อันเกิดจากการปนเปื้อนของสารตะกั่วให้กลับมามีสภาพที่สามารถใช้อุปโภคบริโภคได้ตามมาตรฐานของทางราชการแทนจำเลยทั้งสอง ตามคำพิพากษาศาลฎีกาโดยให้ถือว่าค่าใช้จ่ายที่เสียไปเป็นหนี้ตามคำพิพากษาที่จะบังคับคดีเอาแก่จำเลยทั้งสองต่อไป โดยให้กรมควบคุมมลพิษจัดทำหลักฐานการใช้จ่ายเพื่อประโยชน์ในการบังคับคดีในส่วนค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไป
คำวินิจฉัยสรุปได้ว่าเมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาแก้ไขฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสอง จนกว่าลำห้วยคลิตี้จะกลับมามีสภาพที่สามารถใช้อุปโภคได้ตามมาตรฐานของทางราชการ แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉยต่อคำบังคับที่ให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลฎีกา
กรมควบคุมมลพิษมีหน้าที่โดยตรงตามกฎหมายในการคุ้มครองและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมทั้งประสานเพื่อให้มีการดำเนินการฟื้นฟู ระงับเหตุที่อาจเป็นอันตรายจากมลพิษในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนมลพิษ และกรมควบคุมมลพิษได้มีหนังสือถึงศาลในคดีนี้ แจ้งว่าสามารถเข้าดำเนินการแก้ไขฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ให้มีสภาพที่สามารถใช้อุปโภคได้ตามมาตรฐานของทางราชการแทนจำเลยทั้งสองในคดีนี้ได้ แต่จะต้องไม่รับภาระเพิ่มนอกเหนือไปจากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด
ดังนั้น โจทก์ทั้งแปดในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกา จึงมีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้กรมควบคุมมลพิษในฐานะบุคคลภายนอกคดี กระทำการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ให้กลับมาสามารถใช้อุปโภคบริโภคได้ตามมาตรฐานของทางราชการแทนจำเลยทั้งสอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 358 วรรคหนึ่ง และให้ถือว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ให้สามารถใช้อุปโภคบริโภคได้ตามมาตรฐานของทางราชการเป็นหนี้ตามคำพิพากษาที่จะบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสองต่อไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 358 วรรคสอง
คำสั่งของศาลในคดีนี้ถือเป็นบรรทัดฐานคดีแรกในการยืนยันหลักการ “ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย” และเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาการฟื้นฟูการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อมว่าหากผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ชุมชนผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์ในคดีสามารถร้องขอต่อศาล เพื่อให้หน่วยงานรัฐที่มีอำนาจหน้าที่และมีความเชี่ยวชาญเข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหาและเรียกค่าใช้จ่ายทั้งหมดจากผู้ประกอบการได้ โดยไม่ต้องไปฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นคดีใหม่ซึ่งต้องใช้ระยะเวลานาน