ม.ราชภัฏอุตรดิตถ์ประชุมเตรียมจัดงานมหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค ภาคเหนือประจำปี 2563
21 ก.พ. 2563, 18:04
ผู้สื่อข่าว ONB News รายงานว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ เตรียมจัดงานมหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค ภาคเหนือประจำปี 2563 ครั้งที่ 8 ภายใต้ชื่อ ”งานวิจัยเพื่อสร้างชุมชนนวัตกรรมและเศรษฐกิจภูมิภาค” การแถลงข่าวในครั้งนี้มีผู้ร่วมแถลง โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ / นายสมเกียรติ พูลสุขเสริม รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ / ผศ.ดร.เรืองเดช วงศ์หล้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ / รศ.ดร.สุภาวิณี สัตยาภรณ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ / ผศ.ดร.สิริวดี พรหมน้อย รองคณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี / ดร.กิตติ เมืองตุ้ม รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา โดยมี Mascot ประจำการจัดงานชื่อว่า “น้องนวลแก้ว” นัยว่าเป็นลูกสาวชาวสวนลับแล เนื่องด้วยอุตรดิตถ์เป็นเมืองแห่งผลไม้ที่หลากหลาย ทุเรียน ลางสาด สับปะรด อีกทั้งชาวลับแลส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมสวนผลไม้ จึงนำเอาจุดเด่นของชาวสวนลับแล ที่แต่งกายด้วยชุดพื้นเมือง เสื้อเก๋ง และผ้าถุง(ซิ่นแล่ลับแล) พร้อมงอบกันแดดที่ตกแต่งด้วยผลไม้ประจำจังหวัด เช่น ลางสาด ทุเรียนหลงลับแล สับปะรดห้วยมุ่น มาเป็นตัว Mascot เพื่อสื่อถึงความเป็นอุตรดิตถ์ ที่ได้ขึ้นชื่อว่า “เมืองมหัศจรรย์แห่งผลไม้” โดยเน้นความสำคัญในการนำเสนองานวิจัยที่มีความสอดคล้องกับ LIMEC และงานวิจัยที่สร้างชุมชนนวัตกรรมและเศรษฐกิจภูมิภาคเพื่อเป็นกลไกการขับเคลื่อนชุมชนนวัตกรรมและสร้างเศรษฐกิจภูมิภาค นำไปสู่การจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืนและต่อเนื่องสู่อนาคตต่อไป มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และหน่วยงานร่วม ได้แก่ จังหวัดอุตรดิตถ์LIMEC มหาวิทยาลัยราชภัฏภาคเหนือทั้ง 7 แห่ง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยนเรศวร กำหนดจัดงาน "มหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาคประจำปี 2563" (Regional Research Expo 2019) ขึ้น ระหว่างวันที่ 1-2 มีนาคม 2563 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ภายในงานมีการเปิดบูธนิทรรศการ ประกอบไปด้วยนิทรรศการงานวิจัยเพื่อชุมชน ที่มีสถาบันการศึกษาร่วมจัด 15 สถาบัน และมีหน่วยงานภาครัฐจังหวัดอุตรดิตถ์ 10 หน่วยงานมีการแสดงผลงานของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ที่เกี่ยวกับนวัตกรรมชุมชน ด้วยและนิทรรศการงานวิจัยเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ ประกอบด้วย LIMEC อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ และเครือข่าย Talent Mobility รวมถึงกิจกรรม ชิม ช๊อป ชิว ที่ลานตลาด 3 วัฒนธรรม ที่มีร้านค้ามากกว่า 30 ร้านมาร่วมจัดงาน
ภาคเหนือเป็นภูมิภาคที่อยู่ด้านบนสุดของไทย มีลักษณะภูมิประเทศอันประกอบไปด้วยเทือกเขาสลับซับซ้อน ต่อเนื่องมาจากทิวเขาฉานโยมาในประเทศพม่าและประเทศลาว ภาคเหนือมีภูมิอากาศแบบทุ่งหญ้าสะวันนา เหมือนกับพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ การที่มีพื้นที่อยู่เหนือระดับน้ำทะเลและมีเส้นละติจูดอยู่ตอนบนทำให้ สภาพอากาศของภาคเหนือเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลอย่างเห็นได้ชัด เช่น มีฤดูหนาวที่หนาวเย็นกว่าภูมิภาคอื่น ๆ ทางด้านประวัติศาสตร์ของภาคเหนือมีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับอาณาจักรล้านนา รวมทั้งภาคเหนือยังเป็นระเบียงเศรษฐกิจหลวงพระบาง อินโดจีน เมาะลำไย (Luangprabang-lndochina Mawlamyine Economic Corridor: LIMEC) สู่การใช้ประโยชน์ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจโดย LIMEC เป็นการเชื่อมโยงเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านระหว่างแขวงหลวงพระบาง แขวงไชยบุรี ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวมายังด่านพรมแดนภูดู่ จังหวัดอุตรดิตถ์ของประเทศไทย และพื้นที่อินโดจีน หรือพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง 1 ซึ่งประกอบไปด้วย 5 จังหวัด ได้แก่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย และตาก โดยจะออกจากประเทศไทย ณ ด่านพรมแดนแม่สอด จังหวัดตาก เข้าสู่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาที่ด่านเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง รัฐมอญ โดยเส้นทางดังกล่าวยังเป็นจุดตัดของแนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือใต้ (North-South Economic Corridor) และเส้นทางแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) อีกด้วย