"รมช.ศธ." เดินหน้าดันหลักสูตรพัฒนาผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสู่ศตวรรษที่ 21
20 ก.พ. 2563, 08:40
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ตรวจราชการและมอบนโยบายการจัดการศึกษาผู้บริหารและบุคลากรสถานศึกษาในสังกัดการศึกษาเอกชน ณ โรงเรียนประสิทธิ์ศึกษาสงเคราะห์ ณ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี นายอุทัย ทองเดช รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ผู้บริหารโรงเรียนเอกชน นักเรียน และประชาชนในพื้นที่ร่วมให้การต้อนรับ
ดร.กนกวรรณ กล่าวตอนหนึ่งว่า "ต้องขอชื่นชม โรงเรียนเอกชนที่มาร่วมจัดนิทรรศการในวันนี้ เพราะล้วนแล้วแต่นำความเป็นเลิศมาโชว์ เพื่อแสดงถึงศักยภาพของโรงเรียนตนเองทั้งสิ้น ซึ่งในปีที่ผ่านมาตนได้ผลักดันนโยบายเพื่อพัฒนาบุคลากร การบริหารจัดการและจัดการศึกษา เพื่อครูเอกชนได้สำเร็จไปแล้วในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านสวัสดิการ การจัดสรรงบประมาณ และพัฒนาผู้บริหาร และครูโรงเรียนเอกชน นอกจากนี้ ยังมีนโยบายที่อยู่ระหว่างดำเนินการ อาทิ การขอผ่อนผันใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู โรงเรียนเอกชน ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน นำเรื่องเสนอที่ประชุมคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) ของคุรุสภา เพื่อพิจารณาขอผ่อนผัน รอบที่ 4 ซึ่งขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน อยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบข้อมูลครู จำนวน 112 ราย ก่อนนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) ของคุรุสภาต่อไป นอกจากนี้ยังมีโครงการสำคัญที่ตนตั้งใจมอบให้เป็นขวัญ กำลังใจสำหรับผู้บริหารโรงเรียนเอกชนและครูโรงเรียนเอกชนทุกท่านในปีนี้ คือ การจัดอบรบหลักสูตรนักบริหารเอกชนระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (นบส.สช.) ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสู่ศตวรรษที่ 21 เพื่อพัฒนานักบริหารการศึกษาเอกชนระดับสูงให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่มีวิสัยทัศน์ เป็นนักบริหารที่ได้รับการยอมรับและศรัทธาจากบุคลากรที่เกี่ยวข้องด้วยกระบวนการต่อยอดความรู้และประสบการณ์ รู้เท่าทันโลก สร้างเครือข่ายความร่วมมืออย่างยั่งยืน เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยเริ่มรับสมัครในเดือนกุมภาพันธ์ – กลางเดือนมีนาคม และจะเริ่มดำเนินการอบรมในเดือนเมษายน 2563 เป็นต้นไป รวมทั้งการผลักดันนโยบายการอบรมหลักสูตรครูแบบทางเลือก (Shopping List) ให้กับครูโรงเรียนเอกชนประเภทสามัญศึกษา ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้ครูมีความรู้ พัฒนาทักษะการสอน และสามารถออกแบบการเรียนรู้ สามารถนำไปใช้ในการสอนได้จริง เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาการเรียนการสอนให้น่าสนใจและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยโครงการอบรมดังกล่าวเชื่อมั่นว่าจะเป็นการส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรของโรงเรียนเอกชนให้มีศักยภาพ สามารถจัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ และได้มาตรฐานยิ่งขึ้นต่อไป” ดร.กนกวรรณ กล่าว
สำหรับการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนประสิทธิ์ศึกษาสงเคราะห์ได้ดำเนินการจัดการระบบบริหารอย่างชัดเจน สอดคล้องกับแนวทางปฏิรูปการศึกษา และส่งเสริมให้ครูและบุคลากรทางการศึกษามีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับมาตรฐานของสถานศึกษาและพัฒนาสู่ความเป็นเลิศที่สอดคล้องกับแนวทางปฏิรูปการศึกษา โครงการเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ Special English Program และดำเนินการปลูกฝังให้เกิดการเรียนรู้ ตามแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ มุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติจริง โดยผ่านกระบวนการคิด สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตได้ มีการจัดการเรียนการสอนที่ใช้สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ และแหล่งเรียนรู้ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอผลงานการจัดการศึกษาจากโรงเรียนเอกชนในระบบ และโรงเรียนเอกชนนอกระบบ เช่น โรงเรียนสัมมาสิกขาราชธานีอโศก นำเสนอผลงานการจัดการเรียนการสอนเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อส่งเสริมและพัฒนาทักษะชีวิตให้แก่ผู้เรียน โรงเรียนบ้านพิณโทและโรงเรียนฮั้วเฉียวอุบลราชธานี 2 นำเสนอผลงานการจัดการเรียนการสอน coding การออกแบบเกม ออกแบบสังคม ซึ่งเป็นการนำเสนอผลสัมฤทธิ์จากความสำเร็จในการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายสำคัญ ที่เป็นผลพวงจากการขยายผลในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาครูโรงเรียนเอกชน ของกระทรวงศึกษาธิการ ทั้ง ๕ เรื่อง ตามที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์) ได้เคยกำหนดนโยบายให้การศึกษาเอกชนจัดอบรมตามเขตพื้นที่ของสำนักงานศึกษาธิการภาค ๑๘ ภาค และ กทม. เมื่อ ปีงบประมาณ ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา ซึ่งขับเคลื่อนตามโครงการส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะด้านโค้ดดิ้ง สู่สังคมดิจิทัลในอนาคต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม สนับสนุนและดำเนินการพัฒนากำลังและบุคลากรด้านดิจิทัล รวมถึงพัฒนาทักษะบุคลากรทางการศึกษาด้านเทคโนโลยีตามนโยบายรัฐบาล ให้มีทักษะด้านการคำนวณและการโค้ดดิ้ง สามารถจัดการเรียนการสอนแก่นักเรียนได้อย่างมีประสิทธิผล ตลอดจนส่งเสริมการเรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัล ให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้และสร้างสรรค์นวัตกรรมในอนาคตได้ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายของการเรียนรู้การโค้ดดิ้งและความรู้ดิจิทัลพื้นฐาน อันจะเป็นรากฐานที่ทำให้เกิดระบบนิเวศน์ด้านการศึกษาที่ยั่งยืนและสอดคล้องกับความต้องการของสังคมต่อไป