มอเตอร์เวย์โคราช เสร็จเร็วกว่ากำหนด มีลุ้นเปิดใช้งานเร็วขึ้น เดินทาง2 ชั่วโมง ถึงกรุงเทพ
27 ม.ค. 2563, 10:46
โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา หรือทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข M6 ถือเป็นโครงการสำคัญเร่งด่วน เนื่องจากถูกบรรจุให้อยู่ในแผนมาตรการเร่งรัดการลงทุน ตาม Action Plan ของกระทรวงคมนาคม ระยะทาง 196 กิโลเมตร ใช้เวลาเพียง 127 นาที อีกทั้ง ยังเป็นโครงข่ายเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นประเทศลาว เวียดนาม กัมพูชา จีนตอนใต้
แนวเส้นทางเริ่มต้น ที่จุดเชื่อมต่อกับวงแหวนรอบนอกตะวันออก กับถนนพหลโยธินที่บริเวณทางแยกต่างระดับบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นแนวใหม่ขนานไปกับ ถนนพหลโยธินและ ถนนมิตรภาพ และบรรจบกับทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา บริเวณหลัก กม.ที่ 2 เส้นทางพาดผ่านพื้นที่ 3 จังหวัด 12 อำเภอ ได้แก่
1 จ.พระนครศรีอยุธยา อ.บางปะอิน อ.วังน้อย อ.อุทัย
2 จ.สระบุรี อ.หนองแค อ.เมืองสระบุรี อ.แก่งคอย อ.มวกเหล็ก
3 จ.นครราชสีมา อ.ปากช่อง อ.สีคิ้ว อ.สูงเนิน อ.ขามทะเลสอ อ.เมืองนครราชสีมา
โครงการนี้ ปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีวิลเอนจิเนียริง จำกัด ระบุว่า โครงการนี้บริษัทฯ ได้รับงานก่อสร้างรวม 4 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 16 และสัญญาที่ 29, 30 และ 31 บริเวณเขื่อนลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อก่อสร้างทางยกระดับมอเตอร์เวย์ ขนาด 4 เลน
ปัจจุบัน บริษัทฯ ส่งมอบงานก่อสร้างในสัญญาที่ 29, 30 และ 31 ได้ภายในระยะเวลา 2 ปี 3 เดือน จากสัญญาที่ระบุไว้ 3 ปี เร็วกว่ากำหนดถึง 9 เดือน
พื้นที่บางจุดนี้ ถือว่ามีความท้าทายทางงานวิศวกรรมโยธา เนื่องจากสภาพพื้นที่ก่อสร้างเป็นชั้นดิน แนวเส้นทางบางช่วงเป็นเหวลึกและพาดผ่านโรงไฟฟ้าพลังน้ำใต้ดิน
“การก่อสร้างมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช เป็นอีกโครงการที่เราภาคภูมิใจในการเข้าร่วมพัฒนา แม้พื้นที่ดำเนินการก่อสร้างภายใต้ความรับผิดชอบของเราเป็นจุดที่ยากที่สุดของโครงการนี้”
“แต่ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเราก็ทำสำเร็จด้วยการส่งมอบงานได้เร็วกว่ากำหนด เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้เป็นเส้นทางเดินทางไปสู่ภาคอีสานได้รวดเร็วยิ่งขึ้น”
แนวเส้นทางโครงการหลวงพิเศษระหว่างบางปะอิน-นครราชสีมา มีระยะทางรวม 196 กิโลเมตร โครงการนี้ถ้าทำสำเร็จจะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรในเส้นทางภาคอีสานได้
สัญญาที่ 29 มีบริหารการจราจร ทำงานควบคู่กับรถสัญจรไปมา ทางรถแคบมาก ต้องขยายทั้งสองข้าง ข้างละ 1 เลน หัวใจหลักคือผู้สัญจรเดินทางได้ เราก็ทำงานได้ด้วย โครงสร้างเป็นลักษณะแขนวาย มีผิวทางจราจรด้านบนไปกลับ สองด้าน ด้านละ สองเลน
สัญญาที่ 30 เรื่องของจราจร ไฮไลท์คือเป็นทางยกระดับอยู่บนภูเขา (แขนวาย+สองเลนแบบ 29)
สัญญาที่ 31 ยากเพราะทำเป็นงานเขาเหมือนกัน ตัว Launcher ทำในไทย โดยคนไทยทั้งหมด
สรุปแล้ว โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา มีกำหนดแล้วเสร็จงานก่อสร้าง อย่างช้าปลายปี 2563 จากนั้นจะเริ่มติดตั้งงานระบบต่างๆ ด่านเก็บเงิน ที่พักรถ ทั้งหมด คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ 100 % และเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการเร็วสุดในปี 2565 หรือช้าสุดไม่เกิน 2566