ผู้ว่าฯบึงกาฬยันน้ำที่ให้ ปชช.อุปโภคบริโภคต้องไม่ขาดแคลนเด็ดขาด
15 ม.ค. 2563, 18:06
เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 15 ม.ค.63 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า นายสนิท ขาวสอาด ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการประชุมคณะทำงานบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำของจังหวัดบึงกาฬ มีส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมี นายอำเภอ และผู้บริหารท้องถิ่นทุกแห่งเข้าร่วมประชุม เพื่อซักซ้อมและเตรียมความพร้อมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ การเตรียมความพร้อมช่วยเหลือประชาชนตลอดฤดูแล้งนี้
นายสนิท ผวจ.กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่มีความสำคัญมาก ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือร่วมใจกันดำเนินการแบบเชิงรุก ทั้งการบริหารจัดการ ป้องกันแก้ไขปัญหาก่อนเกิดเหตุ และช่วยเหลือเยียวยาเมื่อเกิดเหตุ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องวางแผนการเตรียมการป้องกันช่วยเหลือทั้งระยะสั้นและระยะยาว ประชาชนทุกพื้นที่ต้องไม่ได้รับผลกระทบเรื่องน้ำอุปโภคบริโภคอย่างเด็ดขาด รองลงมาคือน้ำเพื่อการเกษตร โดยเฉพาะน้ำสำหรับปลูกพืชผลทางการเกษตร ถ้าหากเกิดความเสียหายแล้วจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร และสิ่งสำคัญคือการสำรวจข้อมูลแหล่งน้ำในพื้นที่รับผิดชอบของส่วนราชการ หน่วยงานอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องมีข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน สำรวจรถบรรทุกน้ำวัสดุอุปกรณ์เครื่องมือเตรียมพร้อมรองรับการช่วยเหลือ ตลอดจนประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารสร้างการรับรู้สถานการณ์ภัยแล้ง สถานการณ์น้ำและการใช้น้ำอย่างประหยัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด การร่วมมือร่วมใจช่วยเหลือกันและกัน สำหรับส่วนราชการหน่วยงาน อปท. ให้ตรวจสอบแผนงานโครงการแผนพัฒนาท้องถิ่น แผนตำบล แผนชุมชน หมู่บ้าน(ด้านน้ำ) เตรียมความพร้อมรองรับ หากได้รับการจัดสรรงบประมาณสามารถดำเนินการได้ทันที
ผู้ว่าฯ บึงกาฬ กล่าวอีกว่าสำหรับงบประมาณดำเนินการช่วยเหลือผู้เดือดร้อนจากภัยแล้งมีอยู่หลายส่วนหลายช่องทาง เช่น จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น งบจากผู้ว่าฯ งบจากรองนายกรัฐมนตรี งบจากผู้ตรวจราชการ งบจากหน่วยงานต่างๆ และหากพี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อน ต้องการขอรับความช่วยเหลือแจ้งได้ที่ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ว่าการอำเภอ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง หรือผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬได้เลย
ด้าน นายนริศ อาจหาญ คณะกรรมการภาคประชาสังคมเครือข่ายลุ่มแม่น้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน ประกอบไปด้วย จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญและจังหวัดอุบลราชธานี ได้เปิดเผยว่า วันนี้น้ำโขงอยู่ในขั้นวิกฤต ประชาชนอาศัยอยู่ริมน้ำโขงได้รับผลกระทบ เพราะมีการคาดคะเนหรือคาดการณ์ หรือการวิจัยจากภาคราชการของมหาวิทยาลัยต่างๆ ว่าน้ำโขงอยู่ในขั้นวิกฤต จะเห็นได้ว่าน้ำโขงในปัจจุบันมีสีเขียวใสสะอาดเหมือนน้ำทะเล หลายท่านภูมิใจที่มองเห็นน้ำโขงใสสะอาด ซึ่งที่จริงแล้วยังไม่มีการวิจัยว่าน้ำโขงที่เห็นใสๆ อย่างนี้มันจะใสสะอาดจริงหรือเปล่า หรือมีสิ่งเจือปนอยู่หรือไม่จึงทำให้เกิดการวิตกกังวล โดย ศ.ดร.ทวนทอง จุฑาเกตุ สาขานักวิจัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ได้ประชุมกันที่จังหวัดนครพนม กล่าวในที่ประชุมว่าการไหลช้าของน้ำโขง การไม่มีตะกอนดินทำให้น้ำมีความใส ทำให้แสงแดดส่องทะลุถึงด้านล่างได้ จึงทำให้เห็นน้ำใสและเขียวเหมือนน้ำทะเล แต่ผลการวิจัยจริงจังนั้นยังไม่มีใครทำ เนื่องจากขาดการใส่ใจหรือสนใจจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง สาเหตุดังกล่าวนั้นทำให้เกิดมีผลกระทบเกิดขึ้นแล้วในขณะนี้ก็คือ 1. จำนวนปลาในแม่น้ำโขงลดลงเนื่องจากขาดสารอาหารที่มีอยู่ในน้ำหรือที่เรียกกันว่าแพลงก์ตอน (Plankton) เมื่ออาหารมีน้อยทำให้จำนวนปลาลดลง การผสมพันธุ์ปลาและการขยายพันธุ์ปลาจึงลดลงไปด้วย จึงกระทบอาชีพทำประมงในน้ำโขง 2. มีผลกระทบกับเกษตรกรริมโขงเนื่องจากความขุ่นของตะกอนดินที่พัดพามากับน้ำโขงตกตะกอนทำให้เป็นปุ๋ยชั้นดี มีประโยชน์กับการปลูกพืชผัก เมื่อน้ำโขงท่วมไม่ถึงชายหาดที่เกษตรกรเคยปลูกพืชผักก็ทำให้ชาวเกษตรกรที่ทำมาหากินอยู่ริมโขง เช่น การปลูกพืชผักสวนครัวขาย ปลูกมะเขือเทศ มันแกว ถั่วละสงฯ ต้องใช้ปุ๋ยหรือสารเคมีเพิ่มมากขึ้นกว่าเท่าตัว อันที่ 3 เรื่องของเศรษฐกิจ ทำให้เกิดหาดทรายที่ยาวไกลขึ้น การส่งสินค้าระหว่างประเทศทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เช่นค่าเรือโดยสาร และค่าแพขนานยนต์ในการขนสินค้าหรือรถบรรทุก ที่สำคัญอีกอย่างคือแพขนานยนต์ขนาดใหญ่กินน้ำลึกไม่สามารถวิ่งไปตามร่องน้ำที่เคยผ่านได้ เนื่องจากน้ำตื่นเขินเกิดสันดอนทราย 4.ที่เป็นมากกว่านั้นคือระบบนิเวศเปลี่ยนไป ที่ผ่านมาก็คือช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม น้ำโขงลดลงตามธรรมชาติ วิถีชีวิตของประชาชนริมฝั่งแม่น้ำโขงได้มีการแข่งขันเรือยาวประเพณีที่เคยทำกันมาประจำทุกปีทั้งไทย ลาว เขมร และเวียดนาม ได้รับผลกระทบคือต้องได้ย้ายสถานที่แข่งขันหรือสนามแข่งขัน ขยับออกไปกลางน้ำโขง ซึ่งห่างจากฝั่งเป็นระยะทางไกลมาก 5.จากการที่น้ำโขงลดลงและน้ำขึ้นไม่สูงท่วมตลิ่งเหมือนทุกปีทำให้ระบบน้ำใต้ดินหรือน้ำบาดาลได้รับผลกระทบทำให้ระบบน้ำใต้ดินเหือดแห้งไปด้วย การเจาะน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรหรือเพื่อการอุปโภคบริโภคของคนที่อาศัยอยู่ตามลำน้ำโขง ปกติเคยเจาะแค่ 20 เมตรก็ใช้ได้แล้วแต่ปัจจุบัน 40 ถึง 60 เมตรถึงจะเจอสายน้ำใต้ดิน ส่วนระบบน้ำบ่อผิวดิน หรือ”น้ำส้าง” ก็เหือดแห้งไม่สามารถใช้ได้ เพราะว่าสายน้ำใต้ดินไม่มี ซึมออกมา จึงอยากฝากให้กับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้มาสำรวจหรือมีการวิจัยให้เกิดเป็นรูปประธรรม หรือหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
นี่ขนาดแค่ลาวสร้างเขื่อนไชยบุรีในแม่น้ำโขงแห่งเดี่ยวยังแค่นี้ และอนาคตอันใกล้นี้ก็รับการแจ้งเตือนจาก กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า PNPCA หรือ Procedure for Notification, Prior Consultation, and Agreement และโครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขงจากรัฐบาลลาว กระทรวงพลังงานลาว โดย ดร.จันสะแหวง บันจง(Dr.Chansaveng Boungnong) ว่าลาวมีโครงการก่อสร้างเขื่อนหลวงพระบางขึ้นมาอีกแห่ง ซึ่งอยู่เหนือไชยบุรีประมาณ 130 กิโลเมตร และอาจตามมาด้วยเขื่อนดอนสะโฮง เขื่อนปากแบง เขื่อนปากลาย เขื่อนสาละคาม ก็จะทำให้แม่น้ำโขงเหือดแห้งมากกว่านี้อีก
นายนริศ กล่าวต่อไปว่า ที่เห็นผลกระทบอย่างชัดเจนอีกอย่างหนึ่งก็คือ โครงการสูบน้ำด้วยพลังงานไฟฟ้าของกรมชลประทานที่มอบหมายให้กับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นดูแลไม่สามารถจะสูบน้ำโขงขึ้นมาทำการเกษตรหรือหล่อเลี้ยงการเกษตรให้ชาวบ้านที่ปลูกข้าวหรือพืชผักเศรษฐกิจตามแนวตลิ่งน้ำโขงได้ ทำให้หลายพื้นที่ต้องประกาศให้ประชาชนได้ระมัดระวังในการปลูกพืชและการใช้น้ำ ส่วนสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือน้ำประปาเพื่อบริโภค ก็ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเนื่องจาก เครื่องสูบน้ำไม่สามารถจะสูบน้ำได้เนื่องจากน้ำลดลงไปเยอะและไปไกลต้องมีการเคลื่อนย้ายเครื่องสูบน้ำและต่อท่อเพิ่มขึ้นจึงมีค่าใช้จ่าย ต้องได้เพิ่มงบประมาณมาต่อท่อสูบน้ำหรือย้ายเครื่องสูบน้ำลงไปใกล้น้ำโขงที่ลดลงไปมากนั่นเอง จึงอยากฝากให้เห็นใจคนที่อยู่ใต้เขื่อนทั้งชาวไทย ชาวลาว เขมรและเวียดนาม ขอให้มีการตั้งกองทุนเพื่อชดเชยหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเหมือนกองทุนภาษีบาป เหล้า บุหรี่ ด้วย