ผู้ก่อตั้ง "สตาร์มาร์ค" ลุยฟ้องเอาผิดพี่น้องร่วมฉ้อโกงหุ้น ขึ้นเบิกความนัดสืบพยานโจทก์ปากแรก
20 มิ.ย. 2562, 16:07
วันที่ 20 มิ.ย.62 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า ที่ศาลแขวงพระนครเหนือ ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดสืบพยานโจทก์ปากแรก ในคดีที่ นายสมชาย ศรีสกุลภิญโญ ผู้ก่อตั้งบริษัท สตาร์มาร์คแมนูแฟคเชอร์ริ่ง จำกัด ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ เครื่องหมายการค้า “สตาร์มาร์ค” เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายพีรพัฒน์ หรือพัฒน์ปกรณ์ ศรีสกุลภิโญ นายธวัชชัยหรือธนัฏฐ์โชค ศรีสกุลภิญโญ น.ส.นันทนาหรือณัฐปภัสร์ ศรีสกุลภิญโญ นายพันศักดิ์ วสันตกิจกำจร และนางกรองกาญจน์ หรือจารวี อารยะญาณหรือชลัมพ์ภากร รวม 5 คน ซึ่งทั้งหมด เป็นพี่น้องของโจทก์ เป็นจำเลยในข้อหาร่วมกันฉ้อโกง
สืบเนื่องจาก กลุ่มจำเลย ซึ่งเป็นน้องๆ กับพรรคพวก ใช้กลอุบายร่วมกันหลอกลวงเอาหุ้นบริษัท สตาร์มาร์คแมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ที่โจทก์ เป็นผู้ก่อตั้งมาเมื่อ 40 ปีก่อน ตั้งแต่เปิดเป็นร้านค้าชื่อ “เพชรเกษมเครื่องเรือน” (พ.ศ.2520) ก่อนเปลี่ยนเป็น “หจก.เพชรเกษมเครื่องเรือน” (พ.ศ.2523) จากนั้นเปลี่ยนเป็นบริษัท สตาร์มาร์คแมนนูแฟคเชอร์ริ่ง จำกัด (พ.ศ.2534) มีโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่ ในนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร
จนเมื่อเดือน ก.พ. 2558 ขณะที่นายสมชาย เป็นกรรมการผู้มีอำนาจและเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท สตาร์มาร์ค แมนนูแฟคเชอร์ริ่ง จำกัด จำเลยทั้ง 5 คน ได้ร่วมกันหลอกลวงให้ นายสมชาย โอนหุ้นส่วนของตน จำนวน 5% ไปให้ น.ส.นันทนา เป็นผู้ถือแทน เพื่อใช้ในการบริหารในตลาดหลักทรัพย์ และได้โอนหุ้นต่อไปให้บุคคลภายนอกครอบครัวถือครองแทน ทำให้โจทก์ ขาดจากการเป็นกรรมการผู้มีอำนาจ และครอบครัวของโจทก์ ซึ่งมีทั้งภรรยาและลูกๆ ถูกไล่ออกจากบริษัท จึงมาแจ้งความร้องทุกข์กับกองบังคับการปราบปรามให้ดำเนินคดี เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2558 โดยพนักงานอัยการ มีความเห็นสมควรสั่งฟ้องจำเลยทั้ง 5 คน เมื่อปลายปี 2561 โดยวันนี้ เป็นนัดสืบพยานโจทก์ปากแรก
นายสมชาย กล่าวว่า คดีนี้ตนเองได้ใช้สิทธิ์ตามกฎหมาย ในการฟ้องร้องเอาผิดน้องแท้ๆ เพราะคิดว่าตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการกระทำของน้องๆ วันนี้ ศาลได้นัดสืบพยานโจทก์ปากแรก ซึ่งตนเองจะขึ้นเบิกความในฐานะพยาน และในชั้นนี้ได้เตรียมพยานโจทก์ไว้ 6-7 ปาก โดยส่วนตัวเชื่อมั่น ในกระบวนการยุติธรรม เชื่อมั่นในอำนาจของศาล ซึ่งเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน ว่าจะให้ความเป็นธรรมกับครอบครัวของตนเอง แต่ท้ายที่สุดแล้ว ผลของคดีจะเป็นอย่างไร ก็ต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลเช่นกัน