เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



"รมช.เกษตรฯ" ประกาศทวงแชมป์พันธุ์ข้าวกลับสู่ประเทศไทย 


30 พ.ย. 2562, 15:23



"รมช.เกษตรฯ" ประกาศทวงแชมป์พันธุ์ข้าวกลับสู่ประเทศไทย 




วันที่ 30 พ.ย. 2562  ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดจุดรับซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวประจำปี 2563 ณ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสกลนคร อ.พังโคน จ.สกลนคร ว่า กรมการข้าว เป็นหน่วยงานหลักในการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าว คุณภาพดีของประเทศไทย ที่มีพื้นที่ปลูกข้าวทั้งฤดูนาปีและนาปรังกว่า 70 ล้านไร่ โดยมีปริมาณความต้องการเมล็ดพันธุ์ ประมาณ 1 ล้านตันเศษต่อปี  พร้อมประกาศขอทวงแชมป์ข้าวโลกซึ่งไทยเสียแชมป์ให้กับประเทศเพื่อนบ้านติดต่อกันถึง 2 ปี   เรามีนโยบายพัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าวโดยศูนย์ฯทั้ง 30 แห่งซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ  ผมมีรางวัลเป็นขวัญและกำลังใจให้กับศูนย์ฯที่สามารถพัฒนาข้าวให้มีคุณภาพมากที่สุด  ข้าวต้องหอม นุ่มอร่อย  เมล็ดยาวขึ้น สวยและสมบูรณ์  เพื่อเอาแชมป์ข้าวหอมโลกกลับสู่ประเทศไทยอีกครั้งให้ได้
 
 นายประภัตร กล่าวต่อว่า สำหรับการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวปี 2562/63 เพื่อใช้เพาะปลูก ปี 2563/64  กรมการข้าวจะมีปริมาณเมล็ดพันธุ์รวมทั้งสิ้น 110,000 ตัน ประกอบด้วย 1. เมล็ดพันธุ์คงคลังในสต๊อก  จำนวน 13,000 ตัน 2. เมล็ดพันธุ์ที่ผลิตได้ในฤดูฝน ปี 2562 (นาปี) จำนวน 58,000 ตัน (จะได้ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2562 – มี.ค. 2563) 3. เมล็ดพันธุ์ที่ผลิตได้จากฤดูแล้ง 2563 (นาปรัง) จำนวน 26,000 ตัน (จะได้ตั้งแต่เดือนมี.ค. – พ.ค. 2563) และ 4. ปริมาณเมล็ดพันธุ์ข้าวที่กรมการข้าวรับซื้อจากแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ของศูนย์ข้าวชุมชนและเกษตรกรนาแปลงใหญ่ แล้วนำมาปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ภายในศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรตามโครงการรักษาระดับปริมาณและคุณภาพข้าวฯ จำนวน 13,000 ตัน 

 



 

“เป้าหมายการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวในปีต่อไป รัฐบาลมีนโยบายที่จะเพิ่มศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีให้เพียงพอกับความต้องการซื้อของชาวนา กรมการข้าว โดยศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีทั่วประเทศ 30 แห่ง ได้มีการประชุมร่วมกันเพื่อวางแผนให้สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้ได้ 260,000 ตัน ภายในปี 2565 โดยแบ่งเป้าหมายการผลิตออกเป็น 3 ปี คือ ปี 2563  เป้าหมาย 150,000 ตัน ปี 2564  เป้าหมาย 200,000  ตัน และปี 2565  เป้าหมาย  260,000  ตัน ซึ่งจะทำให้ชาวนา 1,062,500 ครัวเรือน ได้ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีราคาถูก 260,000 ตัน สามารถนำไปเพาะปลูกในพื้นที่ 17 ล้านไร่ ผลผลิตมีปริมาณและคุณภาพข้าวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10 จากไร่ละ 476 กก. เป็นไร่ละ 523 กก. คิดเป็นผลผลิตข้าวส่วนที่เพิ่มขึ้นปริมาณ 799,000 ตัน มูลค่า 7,990 ล้านบาท” นายประภัตร กล่าว

 

โอกาสนี้ รมช.เกษตรฯ ได้พบปะเกษตรกรเพื่อรับฟังปัญหาต่างๆ ในพื้นที่ พร้อมทั้งเยี่ยมชมกระบวนการผลิต กระบวนการตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ในห้องปฏิบัติการ และกระบวนการปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว ก่อนเดินทางไปเยี่ยมชมการดำเนินงานของกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านช้างมิ่ง ต.ช้างมิ่ง อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ซึ่งได้ดำเนินการจัดทำแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวร่วมกับศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสกลนครอย่างต่อเนื่อง สามารถจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวคืนให้ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวทุกฤดู ส่งผลให้สมาชิกมีอาชีพที่มั่นคงและเป็นที่ยอมรับของชุมชน ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 51 คน ประสบผลสำเร็จในการจัดทำแปลงขยายพันธุ์ข้าวระหว่าง ฤดูฝน ปี 2560 ถึง ฤดูฝน ปี 2562 สามารถจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวคืนให้ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสกลนคร รวม 606.375 ตัน คิดเป็นร้อยละ 168.63 ของเป้าหมายซื้อคืน


ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสกลนคร เป็นองค์กรที่เป็นเลิศด้านการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดีมีคุณภาพ ศูนย์ฯ มีเป้าหมายในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวจำนวน 3,200 ตัน ได้แก่ พันธุ์ กข6 ชั้นพันธุ์ขยายจำนวน 1,000 ตัน  พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 จำนวน 1,600 ตัน และ กข15 จำนวน 600 ตัน ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว  และการรวบรวมผลผลิตเพื่อนำมาปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ คาดว่าจะได้เมล็ดพันธุ์ดีตามเป้าหมาย ศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ของศูนย์ฯ มีโรงงานปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์จำนวน 2 โรงงานสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ดีได้วันละ 70 ตัน ภายใน 1 ปีสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ดีได้ 7,000 ตัน นอกจากนี้ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสกลนครยังได้ดำเนินการจัดหาเมล็ดพันธุ์ข้าวจากศูนย์ข้าวชุมชน กลุ่มนาแปลงใหญ่ และกลุ่มข้าวอินทรีย์ จากพื้นที่จังหวัดสกลนครและนครพนม สำหรับนำไปช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ประสบภัย ตามโครงการรักษาระดับปริมาณและคุณภาพข้าวปี 2563/64 จำนวน 1,200 ตัน ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจวิเคราะห์คุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าว

 

 






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.