"วิทยาลัยเทคนิคตรัง" แปรรูปน้ำยางเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อความปลอดภัยด้านการจราจร
16 พ.ย. 2562, 13:57
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะครู และนักศึกษา แผนกวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ วิทยาลัยเทคนิคตรัง ได้ร่วมกันส่งเสริมการนำยางพารามาใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น โดยเฉพาะในยุคที่มีราคาตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับจังหวัดตรัง ถือเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกยางเป็นแห่งแรกของประเทศไทยด้วย จึงออกแบบเพื่อนำน้ำยางมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถใช้งานได้จริง มีความคงทนแข็งแรง และมีราคาถูกกว่าวัสดุอื่นๆ อาทิ แผ่นยางปูพื้น พื้นยางสนามฟุตซอล กระถางยาง ยางปูบ่อปลา เต้ายางตรวจมะเร็งเต้านม
กระทั่งต่อมาได้มีการคิดค้นเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อความปลอดภัยด้านการจราจร ซึ่งในอดีตจะนิยมใช้วัสดุคอนกรีต เนื่องจากมีความคงทนแข็งแรงสูง แต่ก็ทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ที่ขับขี่รถไปเฉี่ยวชน หรือมีการใช้วัสดุพลาสติก แต่กำลังทำให้เกิดปัญหาย่อยสลายยาก และเป็นมลพิษต่อสภาพแวดล้อม ดังนั้น จึงเป็นที่ของการนำวัสดุจากยางมาใช้ทดแทน เพราะเมื่อถูกกระแทกจะไม่แตกเสียหาย และคืนกลับสู่สภาพเดิมได้โดยเร็ว จึงสามารถใช้งานยาวนาน แถมยังช่วยลดอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับผู้ขับขี่ หรือตัวรถได้อีกด้วย
สำหรับ 2 นวัตกรรมจากยางล่าสุดก็คือ ผลิตภัณฑ์แท่งแบริเออร์จากยาง ซึ่งมีการพัฒนาประสิทธิภาพให้สูงขึ้น ด้วยการเสริมสารแคลเซียมคาร์บอเนต และผลิตภัณฑ์แผงกั้นถนนทางโค้งจากยาง ที่ได้มีการเสริมสารซิลิกาเข้าไป โดยผลิตจากน้ำยางข้นชนิดครีม ที่ผ่านกระบวนการวิจัย ศึกษาสูตร วิเคราะห์ พร้อมทั้งออกแบบ จากคณะครูแผนกวิชาเทคโนโลยียางและพอลิมอร์ ซึ่งได้รับงบประมาณปี 2562 จากทางจังหวัดตรัง 6.5 ล้านบาท มาทำการสนับสนุน เพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านยางสู่ชุมชน
นางสาวอทิตยา บุญญา นักศึกษาชั้น ปวส.2 สาขาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ กล่าวถึงขั้นตอนการทำผลิตภัณฑ์แท่งแบริเออร์ และแผงกั้นถนนทางโค้งจากยาง ว่า เริ่มจากการชั่งน้ำยาง และสารเคมีตามสูตรที่กำหนด แล้วนำมาผสมกัน ก่อนฉีดน้ำยางเข้าแม่พิมพ์ด้วยเครื่อง แล้ววัลคาไนซ์ชิ้นงาน (ขึ้นรูปชิ้นงาน) ในตู้อบลมร้อนที่อุณหภูมิ 100 องศา เป็นเวลา 1 ชั่วโมง จากนั้นถอดขึ้นงานออกจากแม่พิมพ์ เพื่อล้างทำความสะอาด แล้วตกแต่งให้สวยงามด้วยการทาสีน้ำมัน และประกอบชิ้นงานตามรูปแบบที่ต้องการ
ผลิตภัณฑ์แท่งแบริเออร์จากยาง จะมีขนาด 50X100X81 เซนติเมตร มีต้นทุนการผลิต 2,200 บาท/ชิ้น และมีน้ำหนัก 80 กก./ชิ้น ส่วนแผงกั้นถนนทางโค้ง มีขนาด 80X200 เซนติเมตร มีต้นทุนการผลิต 3,000 บาท/ขึ้น และมีน้ำหนัก 30 กก./ชิ้น ซึ่งผลการทดสอบพบว่า มีความยืดหยุ่นดี แต่แข็งแรงสูง ทนต่อการกระแทก และทำให้รถกลับเข้าสู่ช่องจราจรเดิมได้ โดยไม่กระเด้งกลับ หรือชนทะลุข้ามด้านหลัง ซึ่งทั้ง 2 ผลิตภัณฑ์ได้มีการยื่นจดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว และกำลังดำเนินการขอมาตรฐาน มอก. ต่อไป
ทั้งนี้ วิทยาลัยเทคนิคตรัง พร้อมที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ผลิตภัณฑ์เพื่อความปลอดภัยด้านการจราจรให้กับหน่วยงานต่างๆ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในสังคม โดยสามารถติดต่อสอบถามที่นายสุรศักดิ์ เทพทอง หัวหน้าแผนกวิชาเทคโนโลยียางและพอลิมอร์ โทร.(083) 539-5456 หรืออีเมล์ saktheptong@yahoo.com