เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



"ปศุสัตว์" เปิดศูนย์ฯฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะขนส่งสินค้า เพื่อป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกา ในสุกร (มีคลิป)


15 มิ.ย. 2562, 10:44



"ปศุสัตว์" เปิดศูนย์ฯฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะขนส่งสินค้า เพื่อป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกา ในสุกร (มีคลิป)




ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  นายสัตวแพทย์จีระศักดิ์ พิพัฒนพงศ์โสภณ  รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานเปิดศูนย์ทำความสะอาด และฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะขนส่งสินค้าปศุสัตว์ ตามโครงการความร่วมมือระหว่างกรมปศุสัตว์และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ณ สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่  3(นครพนม-คำม่วน) บ้านห้อม ต.อาจสามารถ อ.เมือง จ.นครพนม ซึ่งมีนางวิไลวรรณ ไกรโสดา รอง ผวจ.นครพนม  กล่าวต้อนรับ โดยนายสัตวแพทย์บุรินทร์ สรสิทธิ์สุขสกุล ผู้อำนวยการกองสารวัตรและกักกัน กล่าวรายงาน และนายสุรชัย  สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวมอบศูนย์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะฯ ให้แก่กรมปศุสัตว์ โดยมีหัวหน้าส่วนราชการกรมปศุสัตว์ หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดนครพนม อาทิ ตรวจคนเข้าเมืองฯ(ตม.ฯ) ศุลกากรฯ แขวงทางหลวงนครพนม และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมให้การต้อนรับ

น.สพ.จีระศักดิ์ฯ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever: ASF) เป็นโรคที่ไม่ติดต่อสู่คนแต่เป็นโรคไวรัสที่ระบาดในสุกร(หมู)อย่างรุนแรงและรวดเร็ว หากหมูติดโรคแล้วจะทำให้ตายทุกตัว เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน และยังไม่มียารักษาที่จำเพาะ รวมถึงเชื้อโรคมีขนาดใหญ่จึงตายยาก ทำให้สามารถทนอยู่ในสิ่งแวดล้อมหรือซากได้นานหลายเดือน

ปัจจุบันภาคการปศุสัตว์ของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่ กำลังได้รับผลกระทบจากโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ถึงแม้ว่าประเทศไทยยังไม่พบการระบาดของโรคนี้ แต่นับว่ามีความเสี่ยงสูง เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายสัตว์ ซากสัตว์ หรือยานพาหนะที่ใช้บรรทุกนำเข้า-นำผ่าน-นำออกประเทศไทย อีกทั้งยังรวมถึงจากผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาตินำติดตัวเข้ามา ที่อาจจะปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าสู่ประเทศ ซึ่งหากพบการระบาดของโรคดังกล่าวจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจทั้งทางตรง และทางอ้อมต่ออุตสาหกรรมการผลิตปศุสัตว์ของประเทศไทยอย่างมาก และมีผลกระทบด้านสังคมและความมั่นคงด้านอาหารของประเทศด้วย



กรมปศุสัตว์มีภารกิจหลักในการดูแลเรื่องสุขภาพสัตว์และผลผลิตด้านปศุสัตว์ของประเทศไทย เพื่อให้ได้ผลผลิตด้านการปศุสัตว์ที่เพียงพอ มีคุณภาพและปลอดภัยต่อผู้บริโภค รวมทั้งสร้างรายได้และโอกาสทางธุรกิจให้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการในการส่งออกไปยังต่างประเทศ จึงได้กำหนดมาตรการป้องกันโรค ASF ในสุกร เพื่อป้องกันการระบาดเข้าสู่ประเทศไทย ดังนี้ 1. จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและควบคุมโรค ASF ในสุกร (war room) ทั้งระดับกรม และระดับจังหวัด 2. ประชาสัมพันธ์ให้บุคคลทั่วไป และประชุมชี้แจงเกษตรกรถึงอันตรายและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นหากเกิดการระบาดของโรคนี้ 3. ตรวจเยี่ยมฟาร์มหมูทุกฟาร์ม และให้คำแนะนำเพื่อปรับระบบการเลี้ยงให้มีระบบป้องกันโรคที่ดี 4. ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือนักท่องเที่ยวต่างชาติ ห้ามมิให้นำผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ติดตัวเข้ามาประเทศไทย  5. ตรวจสอบและทำลายผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ที่นักท่องเที่ยวต่างชาตินำติดตัวเข้ามา 6. เข้มงวดการเคลื่อนย้ายสินค้าปศุสัตว์ที่นำเข้า-นำผ่าน-นำออกตามด่านพรมแดนทุกแห่งของประเทศไทย 7. เตรียมความพร้อมให้มีระบบการทำลายสุกรที่เป็นโรคและซากสัตว์ที่เป็นพาหะของโรคระบาดให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และ 8. เสนอแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรของประเทศไทยต่อคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบอนุมัติแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรของประเทศไทย และอนุมัติให้แผนดังกล่าวเป็นวาระแห่งชาติเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2562 พร้อมทั้งอนุมัติงบประมาณในการดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคเร่งด่วน ในปีงบประมาณ 2562

ทั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงการปนเปื้อนเชื้อโรคของยานพาหนะบรรทุกสินค้าปศุสัตว์เข้าสู่ประเทศ  ในจังหวัดชายแดนจำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดหนองคาย นครพนม มุกดาหาร เชียงราย และจังหวัดสระแก้ว

“ซึ่งจังหวัดนครพนมเป็นจังหวัดลำดับที่สี่ ที่จัดทำพิธีส่งมอบและเปิดศูนย์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะขนส่งสินค้าปศุสัตว์ ตามโครงการความร่วมมือระหว่างกรมปศุสัตว์และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ โดยการสร้างศูนย์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะขนส่งสินค้าปศุสัตว์ ณ สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่  3(นครพนม-คำม่วน) ตามความร่วมมือระหว่าง   กรมปศุสัตว์และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ซึ่งเป็นมาตรการที่สามารถป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการระบาดของโรค ASF ในสุกรเข้าประเทศได้” น.สพ.จีระศักดิ์ฯ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว







Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.