ศปช. เผยกรมชลฯ เตรียมระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น เตือนปชช.ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด
24 ต.ค. 2567, 15:45
วันนี้ ( 24 ต.ค.67 ) เวลา 12.00 น. นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำว่า กรมชลประทานคาดการณ์ปริมาณน้ำไหลผ่านสถานี C2 จ.นครสวรรค์ ใน 1 - 7 วันข้างหน้าอยู่ที่ 1,900 ลบ.ม. /วินาที ส่งผลให้ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น จำเป็นต้องปรับการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราไม่เกิน 1,900 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่ริมแม่น้ำบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ คลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) มีระดับเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 0.30 - 0.50 เมตร ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมแม่น้ำ เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด นอกจากนั้น ขอให้ประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะ อ.แม่วงก์ อ.แม่เปิน จ.นครสวรรค์ ติดตามสถานการณ์ธรณีพิบัติภัยแผ่นดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก ช่วงวันที่ 24 - 25 ต.ค. 2567 ซึ่งจะมีฝนตกหนักต่อเนื่องทำให้เสี่ยงภัยแผ่นดินถล่ม ทั้งนี้ ศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัยจะเฝ้าระวังและแจ้งอาสาสมัครเครือข่ายในพื้นที่ติดตามสถาณการณ์และเฝ้าระวังอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นายจิรายุ กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ศปช. รับทราบการรายงานความคืบหน้าการดำเนินการทางด้านกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจากสถานการณ์ดินสไลด์ในพื้นที่ภาคใต้ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ติดตามสถานการณ์พร้อมลงพื้นที่สั่งการให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ดำเนินการเตรียมพร้อมด้านอากาศยานเฮลิคอปเตอร์ และ โดรน (UAV) สำรวจติดตามสถาการณ์ดินสไลด์และทำแผนที่เพื่อประเมินสถานการณ์ภัยพิบัติต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น พร้อมทั้งเร่งรัดให้ดำเนินการ ติดตั้งระบบเตือนภัยในพื้นที่เสี่ยง และพื้นที่เฝ้าระวังดินไสด์ โดยให้ทำงานร่วมกับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยตรวจความแข็งแรงของดิน เนื่องด้วยสถานการณ์พื้นที่ทางภาคใต้เกิดฝนตกอย่างต่อเนื่องยังคงมีความเสี่ยงอยู่ในตอนนี้
สำหรับสถานการณ์ในพื้นที่ภาคใต้ บริเวณพื้นที่ เขาหลวง จังหวัดนครศรีธรรมราช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะใช้เฮลิคอปเตอร์สำรวจพื้นที่ โดยจะเริ่มดำเนินการในช่วงสัปดาห์หน้า เพื่อนำข้อมูลจากการสำรวจส่งต่อไปยังจังหวัด กรมทรัพยากรธรณี กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาทั้งในส่วนของชุมชนที่จะได้รับผลกระทบ และเส้นทางที่ใช้ในการสัญจร โดยที่ประชุม ศปช. ได้สั่งการให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับกระทรวงคมนาคมดำเนินการร่วมกันสำรวจพื้นที่จุดเสี่ยงที่อาจเกิดดินไลด์ในพื้นที่ภาคใต้ พร้อมทั้งรายงานให้ที่ประชุม ศปช. ทราบต่อไป