กรมชลฯ เตรียมรับมือฝนหนักภาคใต้ ขณะเหนือฝนน้อยเร่งเก็บกักไว้ใช้แล้งหน้า
21 ต.ค. 2567, 15:35
วันนี้ ( 21 ต.ค.67 ) ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (swoc) อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำกู กรมชลประทาน ถนนสามเสน นายปกรณ์ สุตสุนทร ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาอุทกวิทยา กรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และและแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่
สำหรับสถานการณ์น้ำปัจจุบัน(21 ต.ค.67) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 62,301 ล้าน ลบ.ม. (82% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 14,060 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 21,020 ล้าน ลบ.ม. (85% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 3,851 ล้าน ลบ.ม.
ด้านสถานการณ์น้ำในแม่น้ำสายหลักต่างๆ ส่วนใหญ่มีแนวโน้มลด อาทิ แม่น้ำปิงที่จังหวัดเชียงใหม่ สถานการณ์น้ำได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ยังคงเหลือพื้นที่น้ำท่วมขังบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำในเขตอำเภอเมืองลำปาง กรมชลประทาน ได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำลงลำน้ำวังอย่างต่อเนื่อง หากไม่มีฝนตกเพิ่มในพื้นที่คาดว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในเร็ววัน ส่วนสถานการณ์น้ำในเขตพื้นที่ อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี หลังเกิดฝนตกหนักเมื่อวันที่ 19 ต.ค.67 ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ชุมชน กรมชลประทาน ได้นำเครื่องสูบน้ำ รถฉีดน้ำ รถแบ๊คโฮ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยอย่างเร่งด่วน ปัจจุบันสถานการณ์น้ำเริ่มคลี่คลาย โดยปริมาณหลากจะไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำกระเสียว จ.สุพรรณบุรี ซึ่งปัจจุบันยังมีพื้นที่รองรับน้ำได้อย่างเพียงพอ
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่า ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปริมาณฝนจะเริ่มลดลง จึงได้กำชับไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่ดังกล่าว วางแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ควบคู่ไปกับกับการเก็บกักน้ำในช่วงปลายฤดูฝนนี้ให้ได้มากที่สุด
สำหรับพื้นที่ภาคใต้ จะมีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้น จึงต้องเฝ้าระวังติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่ เครื่องจักร เครื่องมือ เข้าประจำจุดเสี่ยง ตลอดจนตรวจสอบอาคารชลประทานให้ใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ รวมทั้งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้การระบายน้ำเป็นไปโดยสะดวก สามารถลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด ตามข้อสั่งการของ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์