นายกฯ เปิดแคมเปญกระตุ้นท่องเที่ยวไทย ผนึกกำลัง 6 ผู้บริหารบริษัทท่องเที่ยวระดับโลก
7 ต.ค. 2567, 16:10
วันนี้ ( 7 ต.ค.67 ) เวลา 13.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมโต๊ะกลมระหว่างรัฐบาลไทยกับคณะผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทชั้นนำระดับโลกเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย (Round Table Meeting) โดยมีทั้งหมด 6 บริษัทที่เข้าร่วม ได้แก่ Grab, Agoda, Expedia, IHG และ Marriott International, Trip.com Group และการบินไทย ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับและยินดีที่พบคณะฯ ซึ่งวันนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่ทุกฝ่าย ทั้งรัฐบาลไทยและภาคเอกชนจะได้หารือร่วมกันเพื่อผลักดันอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย โดยนายกรัฐมนตรีได้เปิดเผยถึงแคมเปญการท่องเที่ยวไทย “Amazing Thailand Grand Tourism Year 2025” ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการฟื้นฟูและเปลี่ยนแปลงภาคการท่องเที่ยวของประเทศ ให้เป็นรากฐานสำคัญของความเจริญรุ่งเรืองของไทย
โดยในปี 2568 รัฐบาลตั้งเป้าหมายที่จะสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้เพิ่มขึ้น 7.5% และตั้งเป้าหมายรวมไว้ที่ 3.4 ล้านล้านบาท พร้อมคาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 40 ล้านคน และเกิดการเดินทางภายในประเทศมากกว่า 205 ล้านครั้งทั่วประเทศไทย ทั้งในแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลกและสถานที่อันน่าค้นหา (Hidden Gems) ซึ่งเป้าหมายเหล่านี้ ไม่ได้เป็นเพียงตัวเลข หากแต่เป็นตัวแทนของความทุ่มเทอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลในการทำให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางระดับโลก ที่มีชื่อเสียงในด้านมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า ความงดงามทางธรรมชาติ และการต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างอบอุ่น
นายกรัฐมนตรีได้นำเสนอแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อให้บรรลุเป้าหมายข้างต้นผ่านโครงการต่าง ๆ ดังนี้
1) มนต์เสน่ห์ไทย (Thai Charms) นำเสนอประสบการณ์ทางวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้ประเทศไทยมีความพิเศษ ตั้งแต่อาหารที่มีชื่อเสียงระดับโลกไปจนถึงศิลปหัตถกรรมแบบดั้งเดิม โดยเน้นย้ำถึงแก่นแท้ของวัฒนธรรมไทย
2) เมืองมนต์เสน่ห์ซ่อนเร้น (Hidden Gem Cities) ส่งเสริมจุดหมายปลายทางที่ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก เพื่อมอบประสบการณ์ใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจให้แก่ผู้มาเยือน ขณะเดียวกันยังเป็นการกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวให้ทั่วถึงทั้งประเทศ ซึ่งจะช่วยลดปัจจัยด้านการท่องเที่ยวเฉพาะฤดูกาล และนำผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมาสู่ทุกภูมิภาค
3) แนวคิด 5 กิจกรรมท่องเที่ยว 5 Must - Do in Thailand
- ต้องชิม (Must Taste) สัมผัสรสชาติอันหลากหลายของอาหารไทย
- ต้องลอง (Must Try) สัมผัสความตื่นเต้นของมรดกทางวัฒนธรรม เช่น มวยไทย
- ต้องช้อป (Must Buy) ค้นพบแฟชั่นไทยและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น รวมถึงงานหัตถกรรมพื้นบ้าน โดยเฉพาะ ผ้าย้อมครามของไทย ซึ่งมีกระบวนการย้อมที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์
- ต้องแสวงหา (Must Seek) สำรวจจุดหมายปลายทางใหม่ ๆ และประสบการณ์การท่องเที่ยวที่ไม่เหมือนใคร
- ต้องชม (Must See) เพลิดเพลินกับเทศกาลไทยอันคึกคักและงานอีเวนต์ระดับนานาชาติที่สำคัญ เช่น เทศกาลลอยกระทง งานสงกรานต์ และเทศกาล Thailand winter festival ซึ่งจะเริ่มจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2567 นี้
นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า รัฐบาลกำหนดเป้าหมายตลาดที่มีศักยภาพทั่วโลก โดยจะเพิ่มขีดความสามารถด้านเที่ยวบินและยกระดับการเชื่อมโยงซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยจะเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เชื่อมต่อได้มากขึ้น และดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก โดย “Amazing Thailand Grand Tourism Year 2025” นั้นเป็นมากกว่าแคมเปญ ถือเป็นวิสัยทัศน์สู่อนาคตที่สดใส เจริญรุ่งเรือง และครอบคลุมมากขึ้น จึงขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันจุดประกายการท่องเที่ยวไทยและแสดงให้โลกเห็นถึงความงดงามและเสน่ห์อันไม่มีใครเทียบได้ของประเทศไทยสู่สายตาชาวโลก
โอกาสนี้ คณะผู้บริหารฯ ได้นำเสนอแนวทางการสนับสนุนการท่องเที่ยวผ่านการจัดตั้งภาคีเครือข่ายภาครัฐบาลและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว (Tourism Taskforce) ซึ่งจะบูรณาการทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับรัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเชื่อมั่นว่าด้วยศักยภาพของทุกบริษัทชั้นนำระดับโลก ที่มีทั้งประสบการณ์และความชำนาญในเทคโนโลยี การเก็บรวบรวมฐานข้อมูลเชิงลึกต่าง ๆ จะช่วยยกระดับภาคการท่องเที่ยวไทยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยจะมุ่งเน้นที่ 3 เสาหลักทางยุทธศาสตร์ ได้แก่
1) ยกระดับประสบการณ์ของนักท่องเที่ยวตลอดการเดินทาง ซึ่งจะครอบคลุมตั้งแต่ ก่อนการเดินทาง-ระหว่างการเดินทาง-หลังการเดินทาง (Pre-trip, During-trip, Post-trip) การพัฒนาแพ็กเกจท่องเที่ยวแบบครบวงจร ทั้งการจองตั๋วเครื่องบิน ที่พัก การเดินทาง และกิจกรรมการท่องเที่ยว รวมทั้งยกระดับมาตรฐานการเดินทาง เชื่อมโยงระบบขนส่งสาธารณะ ตลอดจนนำเสนอแพลตฟอร์มแจ้งเตือนเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ เพื่อดูแลความปลอดภัย สร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยว
2) การโปรโมต 5 กิจกรรมท่องเที่ยวที่ไม่ควรพลาดในประเทศไทย และแหล่งท่องเที่ยวที่เป็น Hidden Gems โดยเฉพาะการนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวที่ยังไม่เป็นที่รู้จักเพื่อขยายเส้นทางท่องเที่ยวเดิม ซึ่งจะช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชน รวมถึงจะช่วยสนับสนุนกลุ่ม SMEs ผู้ประกอบการโรงแรมขนาดเล็กต่าง ๆ ด้วย ผ่านการใช้เทคโนโลยีเพื่อเชื่อมโยงและโปรโมตสถานที่เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว
3) สนับสนุนการจัดงานเทศกาล อีเวนต์ระดับโลก โดยพร้อมสนับสนุนการจัดงานต่าง ๆ รวมถึงการเป็นเจ้าภาพงานอีเวนต์ระดับโลก (Global mega events) ซึ่งไทยมีศักยภาพและมีเสน่ห์ของจุดปลายหมายทางการท่องเที่ยวจากกิจกรรมที่หลากหลาย อาหารที่ยอดเยี่ยม ขณะเดียวกันต้องเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานด้วย เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าการหารือในวันนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน ซึ่งข้อคิดเห็นและคำแนะนำที่ได้จากคณะผู้บริหารฯ จะช่วยกำหนดรูปแบบความร่วมมือในอนาคตร่วมกัน เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้มากขึ้น