"ภูมิธรรม" เตรียมนัดถกพรรคร่วม ปมแก้ รธน.รายมาตรา สัปดาห์หน้า
19 ก.ย. 2567, 15:33
วันนี้ ( 19 ก.ย.67 ) ที่โรงพยาบาลทหารผ่านศึก นายภูมิธรรม เวชยยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการนัดประชุมพรรคร่วมรัฐบาลในประเด็นแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา ว่า เคยพูดคุยกันยังไม่เป็นทางการบ้างแล้ว แต่บางครั้งรู้สึกว่ามีกฎระเบียบหรือวิธีปฏิบัติที่บั่นทอนการทำงานหรือการจัดการต่างๆ ก็อยากให้การเมืองมีเสถียรภาพ และต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์ในการตรวจสอบให้เกิดความโปร่งใส ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ที่การแก้รัฐธรรมนูญ เพราะมีกฎหมายคุ้มครองอยู่ ซึ่งอย่างไรก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย
นายภูมิธรรม กล่าวต่อว่า หลายเรื่องเป็นเรื่องที่หมิ่นเหม่ ถ้าดูผิวเผินเหมือนจะเป็นการลดทอนอำนาจขององค์กรตรวจสอบแต่จริงๆไม่ได้เป็นเช่นนั้น สิ่งสำคัญคือประเด็นและข้อกฎหมาย หลายเรื่องมันค้านสายตาประชาชนซึ่งบางกรณีเป็นนามธรรมมาก และขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแต่ละคน ซึ่งดุลพินิจมันยากที่จะบอกว่ามาตรฐานการปฏิบัติแบบไหนเป็นสิ่งที่ควรทำ ถึงแม้เราจะเห็นแตกต่างแต่ต้องปฏิบัติเพราะเป็นกฎหมาย เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะทำควรทำให้ชัดเจนขึ้น ยุคสมัยเปลี่ยนไปสถานการณ์เปลี่ยนไป ซึ่งกฎหมายบางฉบับหรือรัฐธรรมนูญบางข้อ อาจเกิดมาในสถานการณ์ที่ต้องการแก้ปัญหาบางอย่าง แต่เมื่อเปลี่ยนผ่านไป ก็ว่าน่าจะแก้ได้แต่เป็นเรื่องของสภา ทั้งสส.และสว. เพราะฉะนั้นควรเป็นประเด็นร่วมกันของพรรคร่วมรัฐบาล โดยจะมีการหารือกัน ว่ามีประเด็นไหนบ้างที่คิดว่าร่วมกันเพื่อนำเสนอในการแก้ปัญหา
นายภูมิธรรม ระบุคาดว่าสัปดาห์หน้าจะเชิญหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลมาปรึกษาหารือ ส่วนตอนนี้ให้ไปรับฟังสิ่งต่างๆ ที่คิดว่าเป็นข้อปฏิบัติที่มีปัญหา และมาเขียนเป็นร่างกฎหมาย ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดและเร็วที่สุดคือการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา ซึ่งสามารถแก้ได้เลย แต่ต้องเข้ากระบวนการทั้งหมดที่กำหนดไว้ และเรื่องนี้ไม่ได้ขัดแย้งกับการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งที่ตนเคยเป็นประธานฯ ตรงนั้นก็ให้ดำเนินการไปตามขั้นตอนที่จะแก้กฎหมายประชามติ เพื่อทำให้ประชามติสะท้อนความเป็นจริงให้มากที่สุด ซึ่งตรงนี้จะแก้คู่ขนานกันไป
ขณะที่กรณี พรรคเพื่อไทย จะเน้นไปเรื่องของจริยธรรมไม่ให้มีผลย้อนหลังนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 60 นายภูมิธรรม กล่าวว่า ต้องหารือกับ 6 พรรคร่วม คิดว่าประเด็นไหนมีปัญหาจะครอบคลุมหรือแก้ไขยึดโยงไปถึงระยะเวลาอย่างไร ตอนนี้ไม่สามารถพูดได้ เพราะเป็นเจตนารมณ์และความต้องการ ของแต่ละบุคคล ซึ่งอาจจะเห็นเหมือนหรือต่างกันได้ แต่หากพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 6 พรรคเห็นพ้องต้องกัน รวมไปถึงสส.และสว. เห็นตรงกันประเด็นนี้ก็จะง่าย เพราะฉะนั้นจะต้องมาดูว่าสิ่งที่ 6 พรรคการเมืองคิด พรรคฝ่ายค้านคิด สภาผู้แทนราษฎรคิด วุฒิสภาคิด ย่อมมีหนทางข้อเสนอร่วมกันได้อย่างไร