สิ้นแล้ว ! "ชรินทร์ นันทนาค" ถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา ในวัย 91 ปี
20 ส.ค. 2567, 10:40
เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชรินทร์ นันทนาคร อายุ 91 ปี ศิลปินนักร้อง นักแสดง ผู้กำกับภาพยนตร์ ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ชาวไทย และศิลปินแห่งชาติ ได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา เมื่อเวลาประมาณ 02.00 น. ของวันที่ 20 สิงหาคม 2567 ณ โรงพยาบาลตำรวจ กรุงเทพมหานคร
สำหรับ “ชรินทร์ นันทนาคร” เกิดวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2476 ที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นบุตรของนายบุญเกิด และนางแสงจันทร์ งามเมือง จบการศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัน คอมเมิร์ส ระหว่างเรียนหนังสือที่โรงเรียนอัสสัมชัน เป็นนักรักบี้ของโรงเรียน แต่ประสบอุบัติเหตุ สะบ้าเข่าแตกต้องเลิกเล่นกีฬาทุกชนิด ระหว่างเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัน
ได้พบกับนายไศล ไกรเลิศ ครูเพลงสากลคนสำคัญในยุคนั้น จึงชักชวนให้ไปเรียนร้องเพลง กระทั่งปี 2494 ได้บันทึกแผ่นเสียงเพลงแรกของนายไศล คือเพลง “ดวงใจในฝัน” เริ่มมีชื่อเสียงและมีโอกาสร้องเพลงของนักแต่งเพลงคนอื่น ๆ เช่น นายสมาน กาญจนะผลิน โดยเฉพาะเพลงที่ใช้ดนตรีไทยเดิมบรรเลงร่วมกับดนตรีสากลเป็นครั้งแรก เช่น เพลงนกเขาคู่รัก สัญญารัก ง้อรัก และเชื่อรัก เป็นต้น
ต่อมาปี 2500 ดาราไทยฟิล์มได้เลือกให้แสดงภาพยนต์ และปี 2508 ได้เริ่ม ผู้กำกับภาพยนตร์ และผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ชาวไทย ได้รับการยกย่องจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเป็น “ศิลปินแห่งชาติ” สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล – ขับร้อง) ประจำปี 2541 สมรสกับนางเอกภาพยนตร์ “เพชรา เชาวราษฎร์”
ชรินทร์ เป็นผู้ริเริ่มร่วมสร้างสรรค์เพลง สดุดีมหาราชา ซึ่งส่งผลให้ได้รับรางวัลกิตติคุณสัมพันธ์ “สังข์เงิน” สาขาใช้ศิลป์สร้างสรรค์ให้เกิดความรักชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์
ชรินทร์ ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ที่ขับร้องเพลงไทยสากลผสมผสานกับเพลงไทยเดิม มีท่วงทำนองสูงต่ำเอื้อนด้วยน้ำเสียงที่มีเสน่ห์ชวนฟัง ออกเสียงอักขระได้ชัดเจน มีผลงานบันทึกแผ่นเสียงประมาณ 1,500 เพลง
“ชรินทร์ นันทนาคร” ได้รับพระราชทานนามสกุลจากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ว่า “นันทนาคร” ซึ่งมีความหมายว่า “ผู้ให้ความรื่นรมย์แก่ชาวเมือง”
ผลงานของชรินทร์ ที่สร้างชื่อเสียงเป็นที่นิยมสูงสุด ได้แก่ เพลงเรือนแพ, มนต์รักดอกคำใต้, หยาดเพชร, อาลัยรัก, ทาษเทวี, เด็ดดอกรัก, ผู้ชนะสิบทิศ, ที่รัก, นกเขาคูรัก, แสนแสบ, ท่าฉลอม, สักขีแม่ปิง, ทุยจ๋าทุย, เพราะขอบฟ้ากั้น ฯลฯ
ชรินทร์ ได้รับรางวัลพระราชทานแผ่นเสียงทองคำจากเพลง อาลัยรัก ก่อนจะผันไปเป็นผู้กำกับและผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ เมื่อ พ.ศ. 2508 มีผลงานในฐานะผู้ผลิตภาพยนตร์ทั้งหมดกว่า 19 เรื่อง โดยมีภาพยนตร์เรื่อง รักข้ามคลอง ที่ทำรายได้สูงที่สุด และภาพยนตร์ แผ่นดินแม่ ถือเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของประเทศไทยที่สร้างในระบบ 70 มม. แต่หลังจากนั้นก็เลิกทำหนังไปเหตุเพราะวงการหนังที่เปลี่ยนไปจึงเกิดความเบื่อ