โฆษกฯ ต้อนรับคณะครู นักเรียน โรงเรียนปลวกแดงพิทยาคม นำเยี่ยมชมทำเนียบรัฐบาล แนะเด็กใช้วิจารณญาณในการรับฟังการนำเสนอข่าวสารจากสื่อ
9 ส.ค. 2567, 12:49
วันนี้ (9 สิงหาคม 2567) เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มอบหมายนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้การต้อนรับพร้อมให้โอวาทแก่คณะครู นักเรียน เจ้าหน้าที่โรงเรียนปลวกแดงพิทยาคม และองค์การบริหารส่วนตำบลปลวกแดง จังหวัดระยอง ที่ได้เข้าร่วมโครงการอบรมเครือข่ายแกนนำเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นการอบรมให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชน เรื่องหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อจะได้นำความรู้ที่ได้มาใช้ในการเรียนการสอน และการดำเนินชีวิตประจำวัน นำไปถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับให้แก่เครือข่ายเด็กและเยาวชนในเขตพื้นที่ระยองต่อไป โดยมีนายปรีชา ปิดตาระคะ ผู้อำนวยการกองการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม องค์การบริหารส่วนตำบลปลวกแดง นำคณะเข้าพบ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวต้อนรับคณะครู นักเรียน โรงเรียนปลวกแดงพิทยาคม และผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ องค์การบริหารส่วนตำบลปลวกแดงว่า อย่างที่ทราบทาง อบต.ปลวกแดง ได้จัดโครงการอบรมเครือข่ายแกนำเด็กและเยาวชนในเรื่องหลักการปกครองและการมีส่วนร่วมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อส่งเสริมให้มีเด็กและเยาวชนได้มีความรู้ ความเข้าใจ และได้นำมาใช้ในการเรียนและการดำเนินชีวิต รวมถึงต่อยอดให้ความรู้และประสบการณ์กับเด็กและเยาวชนคนอื่น ๆ ในพื้นที่จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีเยาวชนจะได้มาศึกษาเพื่อสร้างการรับรู้ถึงความสำคัญของการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การมีส่วนร่วมทางการเมืองในแต่ละบริบททางสังคม รวมทั้งเป็นตัวแทนของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในการเผยแพร่ขยายผลความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่สังคม ชุมชนของตนเอง และในระดับประเทศ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้เปิดโอกาสให้เยาวชนได้เข้ามาเยี่ยมชมและศึกษาดูงาน ณ ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้เปิดองค์ความรู้เกี่ยวกับทำเนียบรัฐบาล และสถานที่ราชการที่สำคัญระดับชาติ เนื่องจากเป็นที่ทำงานของสำนักนายกรัฐมนตรี รวมถึงหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีอีกหลายหน่วยงาน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยให้เห็นถึงความสำคัญการเมืองการปกครอง และบทบาทและอำนาจหน้าที่ฝ่ายบริหาร นอกจากนี้ ยังเป็นสถานที่ทำงานและที่ประชุมของนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และเป็นสถานที่ที่ใช้ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตลอดจนจัดงานรัฐพิธีสำคัญต่าง ๆ ของบ้านเมือง และต้อนรับบุคคลสำคัญระดับผู้นำต่างประเทศที่เดินทางมาเยือนประเทศไทย นอกจากนี้ ทำเนียบรัฐบาลเป็นสถานที่ที่ใช้ในการบริหารราชการของแผ่นดิน มีประวัติศาสตร์ และเรื่องราวสำคัญที่น่าสนใจให้ร่วมเรียนรู้และเยี่ยมชมทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นหนึ่งใน 3 เสาหลักและเป็นศูนย์กลางของการบริหารประเทศ ส่วนสภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนและออกกฎหมาย ส่วนศาลเป็นเรื่องของตุลาการ โดยอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า ทำเนียบรัฐบาล ยังเป็นสถานที่บัญชาการของการบริหารประเทศ และข้าราชการทุกระดับ รวมถึงลูกจ้างภาครัฐ และบริหารงบประมาณแผ่นดินปี 67 ประมาณ 3.6 ล้านล้านบาท ส่วนงบประมาณปี 68 ที่กำลังอยู่ในสภา 3.752 ล้านล้านบาทนั้น เพื่อบริหารเพื่อความกินอยู่ดีกินอยู่ดีของประชาชน ดังนั้น การบริหารราชการแผ่นดินไม่ว่าจะทำเรื่องไหนก็ตามจะเกี่ยวข้องกับประชาชนหลายล้านคน ซึ่งนโยบายแต่ละอย่างที่รัฐบาลตัดสินใจทำ ไม่มีทางที่จะคิดนโยบายอะไรที่ทุกคนจะเห็นด้วย 100% แต่นโยบายที่ออกมาก็จะมีเสียงส่วนต่างที่ไม่เห็นด้วย อย่างไรเสียไม่ว่าจะตัดสินเรื่องอะไร รัฐบาลภายใต้ระบบประชาธิปไตย ไม่มีทางที่จะสามารถเลือกดำเนินนโยบายอะไรที่ปราศจากคนเห็นต่าง นี่คือเนื้อแท้ของประชาธิปไตย และระบบเรายึดถือยึดหลักว่า เห็นต่างไม่เป็นไร แต่ให้ยึดถือเสียงข้างมากให้ปฏิบัติตามนั้น แต่ต้องไม่ปิดกั้นคนที่เห็นต่าง เสียงส่วนน้อยต้องไม่ปิดกั้น ต้องเปิดโอกาสให้คนเห็นต่างได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ มีเสรีภาพในการออกความคิดเห็น Balance ของประชาธิปไตยจะเป็นแบบนี้
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า น้อง ๆ นักเรียน อาจจะได้เห็นข่าวในโลกโซเชียล หรือทางออฟไลน์ จะเห็นว่ารัฐบาลดำเนินนโยบายต่าง ๆ อาทิ โครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท นโยบายท่องเที่ยว นโยบายสินค้าเกษตร ทุกนโยบายยังไม่พ้นคำครหา ทุกเรื่องมีคนวิพากษ์วิจารณ์เสมอ และรัฐบาลก็รับทราบทุกความคิดเห็น ในการเสนอข่าวของประเทศไทย มักจะมีการนำเสนอในเรื่องไม่ดีมากกว่าเรื่องที่ดี เพื่อดึงดูดผู้อ่าน ซึ่งการเมืองประเทศไทย น้อง ๆ อาจจะเข้าใจว่ารัฐบาลโดนวิพากษ์วิจารณ์เยอะ แต่อาจเป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่เรื่องนั้น ๆ เกี่ยวข้องกับคนอีกหลายสิบล้านคน ดังนั้น การเสนอข่าวต่าง ๆ ต้องใช้วิจารณญาณในการรับฟังให้ดี
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ฝากข้อคิด และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเยาวชนว่า ประเทศไทยเรา ปัญหาที่เห็นจากการที่ตนทำงานด้านสื่อ เป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้สังเกตเห็นว่าเมืองไทยเรามีปัญหาเรื่องการรับมือ (Deal) กับความเห็นต่าง ค่านิยม ทัศนคติ และด้วยความเคยชินของสังคมเรา มักจะเห็นว่าเมื่อมีการเห็นต่าง เราจะมุ่งไปที่ตัวบุคคลทันที ถ้าเห็นต่างเมื่อไหร่เราจะเริ่มกล่าวหา และจัดการกับบุคคล เมื่อเทียบกับวัฒนธรรมทางตะวันตก เขาจะ deal with the issue not the person หรือจัดการกับเนื้อหาสาระ ไม่หันมาเล่นงานตัวบุคคล แต่ประเทศไทยเห็นต่างเมื่อไหร่ จะมีการโจมตีความเห็นต่าง จนกลายเป็น Hate Speech จึงอยากฝากน้อง ๆ ไปพิจารณาว่าการสื่อสารที่มีคุณภาพ หลีกเลี่ยงการโจมตี การให้ร้ายทางด้านตัวบุคคล เวลามีความเห็นต่าง จะเป็นสิ่งที่สะท้อนว่าเราเป็นคนที่พัฒนาแล้ว ดูได้จากวิธีการรับมือกับความแตกต่าง ถ้าเรารับมือ deal with the issue ไม่โจมตีบุคคลแสดงว่าพัฒนาแล้ว แต่ถ้าเรายังโจมตีบุคคลเป็นหลัก แสดงว่าเราอยู่ในศตวรรษเก่า ความเห็นต่างถ้าใช้อย่างมีประโยชน์ก็จะมีคุณูปการต่อประเทศไทย
ทางด้านตัวแทนนักเรียนได้ถามโฆษกฯ ว่า หากอยากทำงานในรัฐบาล และเป็นเพศทางเลือก สามารถแต่งตัวเป็นเพศทางเลือกของเขาได้ไหม โฆษกฯ กล่าวว่า ทำเนียบรัฐบาล welcome และได้จัดงาน Pride Month อย่างยิ่งใหญ่ รัฐบาลนี้เปิดกว้าง และโอบรับความหลากหลาย ไม่มีการตั้งคำถามกับเพศทางเลือก
ตัวแทนนักเรียนถามต่อว่า ถ้าต้องการทำงานเป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต้องมีแนวทางในการเตรียมตัวอย่างไร
โฆษกฯ กล่าวว่า 1. ต้องมีความรู้รอบด้าน ต้องหมั่นฝึกนิสัยในการเป็นนักอ่าน นักคิด ขวนขวายหาความรู้ เพราะการทำงานมีเรื่องราวที่หลากหลายและแตกต่าง การมีความรู้จะสามารถต่อยอดรับมือและสื่อสารกับประชาชนได้ดียิ่งขึ้น 2. ระหว่างเรียนหนังสือ ต้องหาประสบการณ์ เพราะการสื่อสารเป็นเรื่องของทักษะ หากมีกิจกรรมของโรงเรียนเข้าไปร่วมนำเสนอเเนวคิดของเราบ่อย ๆ ทักษะในการสื่อสารต้องสะสมตั้งแต่เด็ก ๆ นานวันก็จะเกิดเป็น skill
นอกจากนี้ ในส่วนของมุมมองทัศนคติการทำงานของตนต้องคิดบวก มองโลกในเเง่บวก คือการมองเห็นโอกาสในทุกปัญหา ไม่ใช่มองเห็นปัญหาในทุกโอกาส ถือเป็นคำถามที่ดีมาก ส่วนใหญ่เราถูกบ่มเพาะจากสังคมว่า ต้องมีระบบความคิดเป็น Perfectionist ต้องทำตามลำดับ 1-10 ถ้าไม่ครบ 10 คือไม่สำเร็จ ซึ่งในโลกความเป็นจริง เราอาจจะเก่งด้านใดด้านหนึ่ง ก็อาจจะเป็นคนที่สำเร็จได้ การคิดบวกทำให้จิตใจเราดีด้วย การดีลกับโอกาสมากกว่าดีลกับปัญหา เป็นสิ่งที่ loser กับ winner แตกต่างกัน