ศาลเยาวชนฯ จับมือหลายหน่วยงาน คิกออฟ "โครงการเยาวชนรู้เท่าทัน ป้องกันตนเอง"
4 ส.ค. 2567, 16:01
วันนี้ ( 4 ส.ค.67 ) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้ร่วมเป็นองค์เสวนา ชื่อหัวข้อ “เยาวชนความรู้เท่าทันเรื่องอะไรบ้างจึงป้องกันตัวเองได้” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม “โครงการเยาวชนรู้เท่าทัน ป้องกันตนเอง” ที่จัดขึ้น ณ ชุมชนบ้านปูนใต้สะพานพระราม 8 เขตบางพลัด กรุงเทพมหานครฯ ระหว่างเวลา 08:30 – 14:00 น. โดย นายกีรติ กีรติยุติ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง และนางอิง ภาสกรนที ประธานผู้พิพากษาสมทบ ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ร่วมเป็นประธานในการเปิดงาน
นายกีรติ ระบุว่า ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง และได้รับความร่วมมือกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจับกุม ปราบปราม และเยียวยา เยาวชนที่กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และเผชิญความเสี่ยงอื่นๆ เช่น ภัยจากการล่อลวง (เช่น การเปิดบัญชีม้า และการค้าประเวณี) ซึ่งท้ายสุดก็ทำให้กลุ่มเยาวชนเข้าไปอยู่ในวงจรสีเทาที่มีการค้าขายยาเสพติดสอดแทรกอยู่ในนั้นซึ่งการจัดงานครั้งนี้เป็นเพียงแค่การคิ๊กออฟโครงการ เป็นต้นแบบที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมุ่งหวังจะเดินหน้าจัดในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป เป้าหมายของศาลเยาวชนและครอบครัวกลางคือให้ความรู้ในเรื่องคดีต่างๆ ที่เด็กและเยาวชนควรมีความรู้ ความเข้าใจ โดยในเฟสแรกนี้จะมุ่งเป้าหาความร่วมมือกับคณะกรรมการชุมชนต่างๆ สำนักงานเขตต่างๆ ที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร และมีความพร้อม โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะครอบคลุมให้ได้มากถึง 4 ชุมชนต่อปี โดยงบประมาณหลักในการจัดงานนี้มาจากจากระดมทุนของคนในศาลโดยมุ่งหวังสร้างภูมิคุ้มกันทางปัญญา ให้เยาวชนห่างไกลยาเสพติด และอยากเห็นเยาวชนไทยได้รับโอกาสที่ดีในชีวิต
ขณะที่ในเวทีเสวนา รองโฆษกฯ รัดเกล้า ได้ตอกย้ำว่ารัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการปราบปรามยาเสพติดแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ รวมถึงได้ประชาสัมพันธ์ผลงาน นโยบาย และมาตรการของรัฐบาลในการปราบปรามยาเสพติด โดยล่าสุด นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ให้ทิศทางให้ตัดต้นตอกระบวนการค้ายาเสพติด ด้วยการเน้นทำลายโครงสร้างการค้าและการเงินของกลุ่มผู้ค้ายาเสพติด ความน่ากังวลใจคือสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้รายงานว่าปัจจุบันมีการจับการค้ายาเสพติดได้จำนวนเพิ่มขึ้นถึง 4-5 เท่า ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามีการเข้ามาของยาเป็นจำนวนมาก ในสภาวะเช่นนี้ หน่วยปฏิบัติต้องทำงานหนักมาก และต้องพบความเสี่ยงในการทำงานมากขึ้น ความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่สำคัญที่สุด เมื่อ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา นายกฯ ได้มอบอุปกรณ์เพื่อใช้ในการป้องกัน และตอบโต้กลุ่มผู้ค้ายาเสพติด อาทิ กล้อง Night Vision โดรนตรวจการณ์ ระบบต่อต้านอากาศยานไร้คนขับ ANTI-DRONE และรถโฟร์วีล เป็นต้น
นอกจากนี้ในวงเสวนา นางสาวนิชญา ปราณีจิตต์ เลขานุการศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ที่ได้แบ่งปันประสบการณ์ในการดำเนินคดีอาญากับเด็กและเยาวชน และมอบแง่คิดให้กับเยาวชน / นพ. ธนัช พจน์พิศุทธิ์พงศ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบำบัดการติดยาเสพติด สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร ชักชวนเยาวชนหันมาให้ความสำคัญของการออกกำลังกายซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันที่มีประสิทธิภาพจากการข้องเกี่ยวกับยาเสพติด บอกเล่าถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงแนะแนวเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร อันนำไปสู่ปัญหาต่างๆ เช่น คุณแม่วัยรุ่น เยาวชนพ้นจากรั้วโรงเรียน การทำแท้งผิดกฏหมาย / นายอุดมชัย โลหณุต ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกรุงเทพมหานคร (ปปส.) เสริมให้ประเด็นของบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของเยาวชนว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่ผิดกฏหมาย อีกทั้งยังย้ำถึงอันตรายจากสารเสพติดหากเป็นผู้เสพ หากอยากเลิกเสพยาเสพติดจะต้องไปที่ไหนได้บ้าง และต้องระมัดระวังอย่างไรบ้างเกี่ยวกับเรื่องสารเสพติด / พันตำรวจตรีธนิต ผิวแดง รองสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลบางยี่ขัน ที่ได้แนะนำเยาวชนในความเสี่ยงในหลากหลายมิติที่เยาวชนควรระมัดระวังตัว เพื่อไม่ให้กระทำผิดกฎหมาย เช่น เปิดบัญชีม้า ถูกล่อลวงขายประเวณี แก๊งขโมยของในห้าง หลอกให้เสพและขายยาบ้า
สำหรับกิจกรรมภายในงาน มีกิจกรรมการแสดงความสามารถของเยาวชนในชุมชนเพื่อนบ้าน การแสดงกระบี่กระบอง จากชุมชนวัดฉัตรแก้ว ที่เป็นแบบที่ดีของชุมชนที่สร้างกิจกรรมดังกล่าวให้เยาวชนในพื้นที่ใช้เวลาว่างมาทำในสิ่งที่มีประโยชน์ สร้างรายได้เสริม และเสริมความเข้มแข็งให้กับชุมชน มีการแสดงรำร่ายไหว้ครูมวยไทย ชุดผู้ใหญ่และชุดเด็ก และการแสดงคีตะมวยไทย จากชุมชนเขตคลองเตย นอกจากนั้นในบริเวณรอบข้างยังมีการออกร้านให้ชุมชนรอบข้างนำของดีในพื้นที่มาวางขาย เพื่อให้ผู้ร่วมงานได้เพลิดเพลินและร่วมอุดหนุนสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่อีกด้วย