เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



งานช้างเริ่มมีเค้าโครงแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ หลังปัญหาช้างป่าเกิดขึ้นมานาน


22 ก.ค. 2567, 15:22



งานช้างเริ่มมีเค้าโครงแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ หลังปัญหาช้างป่าเกิดขึ้นมานาน




จากกรณีรถยนต์กระบะชนช้างป่าสลักพระ จนสภาพด้านหน้ารถพังยับเยิน ยุบไปถึงหลังคา ส่วนคนขับเป็นชาวกรุงเทพฯ ได้รับบาดเจ็บ  เจ้าหน้าที่มูลนิธิพิทักษ์กาญจน์ ได้ช่วยเหลือด้วยการนำตัวส่งไปที่โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา เหตุเกิดเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 67 ที่ผ่านมา ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นแบบเช่นนี้มานานแต่ละครั้งที่เกิดเหตุหน่วยงานในท้องถิ่น ก็ได้แก้ไขเบื้องต้น แต่ไม่นานเหตุก็เกิดขึ้นอีก วันนี้ สส.กอล์ฟ ให้ความสนใจเตรียมนำปัญหาดังกล่าวเข้าสภาแก้ไขแบบยั้งยืน ให้คนกับช้างอยู่ร่วมกันได้ต่อไป

 

วันนี้ 22 ก.ค.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จ.กาญจนบุรี ได้รับการประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งแรกของไทย เมื่อวันที่ 31  ธ.ค.2508 มีพื้นที่ประมาณ 858.55 ตารางกิโลเมตร หรือ 536,594 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ อ.เมืองกาญจนบุรี อ.ศรีสวัสดิ์ อ.บ่อพลอย และ อ.หนองปรือ ปัจจุบันช้างป่าที่อาศัยอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ นับวันยิ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกปี ปัจจุบันบวกลบแล้วไม่ต่ำกว่า 200 ตัว และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

 

ขณะเดียวกันพื้นที่อาศัยของช้างป่ามีขนาดเท่าเดิม และมีโอกาสที่จะลดลงเรื่อยๆในทุกๆปี เช่นกัน เพราะมีการขยายถิ่นฐานที่อยู่อาศัยของชุมชนที่อยู่รอยต่อกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ โดยเฉพาะทิศทางด้านตะวันตก เช่นอำเภอเมืองกาญจนบุรีและอำเภอศรีสวัสดิ์ ได้เปลี่ยนสภาพจากผืนป่ากลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรมพืชเชิงเดี่ยว เช่น อ้อย มันสำปะหลัง มะละกอ อีกทั้งยังมี โรงแรม และรีสอร์ต เพิ่มขึ้น ซึ่งในอดีตพื้นที่เหล่านี้เป็นด่านทางเดินของช้างป่าที่ลงไปแม่น้ำแควใหญ่เพื่อข้ามไปหากินอีกฟากฝั่งหนึ่งของแม่น้ำ ซึ่งคนในพื้นที่เองต่างก็รู้ดี

 

ในอดีตผืนป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแหล่งน้ำแหล่งอาหาร ปัจจุบันต้องมาประสบกับปัญหาภัยแล้ง ทำให้ขาดแคลนแหล่งน้ำแหล่งอาหารของช้างป่า กอปรกับการที่เกษตรกรที่อยู่รอยต่อมีการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพิ่มขึ้น จึงเป็นที่ดึงดูดให้ช้างป่าออกมาหากินนอกพื้นที่ สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนมานานหลาย 10 ปี

 

ที่ผ่านมากรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้หาแนวทางในการแก้ไขปัญหาผลกระทบระหว่างคนกับช้างป่ามาอย่างต่อเนื่อง มีการว่าจ้างบริษัทเอกชนให้เข้ามาดำเนินการแก้ไขด้วยการทำรั้วกันช้างกึ่งถาวร แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะช้างป่ายังสามารถพังรั้วข้ามออกมาหากินนอกพื้นที่ได้อย่างง่ายดาย กระแสไฟฟ้าที่ปล่อยออกมาไม่ได้ส่งผลกระตบต่อช้างป่าเลยแม้แต่น้อย อาจจะรู้สึกก็เพียงแค่เหมือนกับถูกยุงกัดเท่านั้น หลายรัฐบาลที่ผ่านมาได้พยายามหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเลยแม้แต่ครั้งเดียว แต่อย่างไรก็ตามการแก้ไขปัญหาช้างป่าออกมาหากินนอกพื้นที่ก็ยังพอเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์อยู่บ้าง

 

เนื่องจากนายอัครนันท์ กัณณ์กิตตินันท์ หรือกอล์ฟ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.)กาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย เขต 1 ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างมาก ที่ผ่านมานายอัครนันท์ฯ ได้ลงพื้นที่ไปพบปะกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ต.ช่องสะเดา ต.วังด้ง อ.เมือง จ.กาญจนบุรี เพื่อรับทราบปัญหาและอุปสรรค ในการนำไปแก้ไขปัญหา ด้วยการนำเข้าประชุมในระดับสภาให้ได้โดยเร็ว

 

โดยช่วงค่ำของวันที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมานั้น นายอัครนันท์ กัณณ์กิตตินันท์ พร้อมด้วยนายนิติกร แสงทอง หรือ สจ.เบนซ์ สมาชิกสภา อบจ.กาญจนบุรี ได้มีการนัดหมายกับนายไพฑูรย์ อินทรบุตร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ นายวสันต์ สุนจิรัตน์ กำนันตำบลช่องสะเดา ทีมปกครองตำบลช่องสะเดา เครือข่ายเฝ้าระวัง ผลักดันช้างป่าออกนอกพื้นที่ ( อส.อส.) บ้านแก่งปลากด (อส.อส.) บ้านโป่งปัด ทีมอาสาสมัครเฝ้าระวังผลักดันช้างป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ร่วมลงพื้นที่เพื่อสำรวจพื้นที่ที่ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากช้างป่าลงมารบกวนกินและทำลายพืชไร่ในพื้นที่ตำบลวังดง และตำบลช่องสะเดา

 

โดยนายไพฑูรย์ อินทรบุตร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนประชากรช้างป่า ว่าปัจจุบันในพื้นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ มีช้างป่าอาศัยอยู่กว่า 270 ตัว ตัวเลขของช้างป่านั้นเป็นข้อมูลจากงานวิจัยพฤติกรรมของช้างป่า ซึ่งนายอัครนันท์ ได้ให้ความสนใจและสอบถามเรื่องแนวทางการแก้ปัญหา โดยนายไพฑูรย์ ได้ชี้แจงในเรื่องการแก้ปัญหาไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการทำสถานที่กักกันช้างป่า ซึ่งทางเขตได้นำเสนอแนวทางในการสร้างสถานที่กักกันช้างป่าบริเวณซอกเขาหนองแจง หมู่ 4 ต.วังด้ง อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ที่มีเนื้อที่ประมาณ 4000 ไร่

 

พื้นที่ดังกล่าวสามารถรองรับจำนวนช้างกลุ่มย่อยที่ออกมารบกวนชาวบ้านได้ โดยให้มีการบริหารจัดการแหล่งน้ำแหล่งอาหารอันจะก่อให้เกิดความยั่งยืนในการ บริหารจัดการ ซึ่งนายอัครนันท์ กัณณ์กิตตินันท์ ได้ให้ความสนใจแนวทางการแก้ไขปัญหาตามที่นายไพฑูรย์ อินทรบุตร นำเสนอเป็นอย่างมาก จึงมีความตั้งใจที่จะนำข้อเสนอแนะดังกล่าวเข้าไปประชุมที่สภาผู้แทนราษฎรให้เร็วที่สุด เพราะหากไม่รีบแก้ไขปัญหาดังกล่าวอาจจะทำให้เกิดปัญหาบานปลายได้เพราะช้างป่ามีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ผืนป่ายังคงมีเท่าเดิมและมีแนวโน้มลดลงเพราะเกิดจากความเจริญของชุมชน

   

 



 


 






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.