นายกฯ ลงพื้นที่ไม่ได้บอกล่วงหน้า เพราะต้องการเห็นการทำงานจริง ลั่น! ไม่ต้องการจับผิดใคร
22 มิ.ย. 2567, 10:11
วันนี้ (22 มิถุนายน 2567) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า วันนี้ (22 มิถุนายน 2567) เวลา 08.00 - 08.30 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พูดในรายการ “คุยกับเศรษฐา” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย นายกฯ กล่าวถึงการลงพื้นที่ตรวจราชการในหลาย ๆ พื้นที่โดยไม่ได้บอกล่วงหน้า ว่า สำคัญมากกว่าเรื่องไม่บอกล่วงหน้า คือไปตรวจราชการตามสถานที่ต่าง ๆ และนโยบาย Aviation Hub เป็นหนึ่งในนโยบายเรือธงของรัฐบาล สนามบินสุวรรณภูมิเคยเป็นสนามบินระดับท็อป ๆ ของโลก แต่อันดับตกไปเยอะมาก เราไม่มีการลงทุนในแง่โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เลย ในช่วงเกือบยี่สิบปีที่ผ่านมา สนามบินสุวรรณภูมิเป็นโครงการใหญ่โครงการหนึ่งที่เราลงทุนมา แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีศักยภาพที่จะเติบโตต่อไปได้ โซนหนึ่งเพิ่งเปิด โซนสองเพิ่งเปิด รันเวย์สามก็จะเปิด จะมีการขยายออกไป อันนั้นถือเป็นเรื่องของอนาคต แต่ว่าเราต้องอยู่กับปัจจุบันก่อนด้วย เรื่องของการท่องเที่ยว ซึ่งก็เป็นนโยบายเรือธงของเรา จะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มเข้ามาอย่างมโหฬาร การเดินทางก้าวแรกที่เขาเข้ามาเหยียบแผ่นดินไทยเขาต้องมีความสุข ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการตรวจคนเข้าเมือง ต้องไม่เข้าคิวนาน เรื่องกระเป๋า เรื่องแท็กซี่ที่มารับ
นายกฯ กล่าวต่อไปว่า ถ้าตนเองไปโดยที่ไม่บอก ไปดูให้เห็นจริง ๆ ความลำบากคืออะไร คิวยาวเหยียดตั้งแต่บันไดวนลงมาเป็นตัวงู และไม่สามารถทำอะไรได้ ตนเองคิดว่าก็เป็นปัญหา เพราะฉะนั้นต้องลงไปแบบไม่บอกล่วงหน้า จะได้ไม่มีการเตรียมการดีกว่า ใช้คำนี้ดีกว่า ไม่ได้ไปจับผิด แต่ว่าเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว ซึ่งก่อนที่ตนเองจะมาเป็นนักการเมือง บริษัทเก่าก็ทำอย่างนี้ เวลาไปตรวจงานก็จะไปแบบไม่มีการประกาศล่วงหน้า จะได้เห็นสถานภาพที่จริงมากกว่า แล้วมาแก้ไขปัญหากัน
“ไปถึงก็ไม่ใช่ไป ขอโทษนะ ไปด่าเขา ไปว่าเขานะครับ เราไปนั่งพูดคุยกันดีกว่าว่าปัญหามันคืออะไร ใช่ไหมครับ เราก็จะได้เห็นจริง ๆ และก็ช่วยแก้ไขจริง ๆ” นายกฯ ย้ำ
นายกฯ กล่าวว่า สนามบินสุวรรณภูมิพัฒนาได้อีก พัฒนาดีขึ้นเยอะ เพราะว่า KPI ที่ให้ไป ไม่ว่าจะเป็นก้าวแรกที่ลงจากเครื่องบิน ต้องไม่เกิน 45 นาที ต้องได้รับกระเป๋า ส่วนมากก็น่าจะทำได้ หรือประมาณหนึ่งชั่วโมงก็ไม่น่าเกิน และตอนขากลับจากที่เช็คอินตั๋วและเข้าไปข้างใน ต้องไม่เกิน 45 นาทีเหมือนกัน ซึ่งปัจจุบันก็ทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยในแง่ของเรื่องเครื่องอัตโนมัติในการตรวจสอบ เรื่องของการจัดการทำงานของพนักงาน เหล่านี้ก็ถือว่าช่วยกันได้เยอะมาก
นายกฯ กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาตอนเป็นผู้บริหารของบริษัทเอกชน กับตอนเป็นนายกรัฐมนตรีว่า ต่างกัน สภาพแวดล้อมต่างกันพอสมควรเหมือนกัน ในส่วนภาคเอกชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางธุรกิจก็แตกต่างกันออกไป ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภาครัฐบาลก็มีเยอะกว่า เพราะฉะนั้นต้องดูให้ครบทุกหมู่เหล่าจริง ๆ เรื่องของความระมัดระวัง ทางด้านขั้นตอนต่าง ๆ ในการทำงาน ก็มีกลไกทางราชการ ซึ่งเราต้องเคารพ มีองค์กรอิสระตรวจสอบก็เยอะ เราต้องมั่นใจว่า ทุกอย่าง ทุกการกระทำของเราถูกต้อง เป็นไปตามกฎระเบียบ แต่ตนเองก็มามองว่าความเดือดร้อนไม่คอยท่า ต้องการการบริหารจัดการออกไป แต่ระหว่างทาง ก่อนที่จะมีอะไร ก็อาจจะมีมาตรการระยะสั้น หรือชั่วคราว ที่พยุงปัญหาไปได้บ้าง บางทีปัญหาก็ไม่สามารถแก้ได้ด้วยอะไรที่รวดเร็วทันใจอย่างเดียว ซึ่งมีหลายขั้นตอน เพราะเป็นระบบราชการ ซึ่งถ้าเรามาอยู่ตรงนี้เราก็ต้องยอมรับตรงนี้