ฉก.พญานาคราช จับกุมปลาสวยงาม ที่ไม่มีใบอนุญาตให้ค้าหรือครอบครอง จำนวน 48 ตัว มูลค่าราว 288,000 บาท
14 มิ.ย. 2567, 14:18
เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2567 พันเอกรวิรักษ์ สัตตบุศย์ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจพญานาคราช เปิดเผยหลังนำกำลังเจ้าหน้าที่ศูนย์บริหารจัดการด่านตรวจประมงเขต 8 (สงขลา) ร่วมกับประมงอำเภอหาดใหญ่ ได้ออกตรวจลงพื้นที่หาข่าวผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ เพื่อเฝ้าระวังการกระทำความผิดลักลอบนำเข้าสัตว์น้ำโดยเฉพาะปลาสวยงามเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งนายธีระพงษ์ อภัยภักดี ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการด่านตรวจประมงเขต 8 (สงขลา) มอบหมายให้นายศราวุธ คเชนทองสุวรรณ์ นักวิชาการประมงปฏิบัติการ หัวหน้าชุดเฉพาะกิจป้องกันลักลอบการนำเข้าสินค้าประมงผิดกฎหมาย และนางสาวชิดชนก บุญโกย นักวิชาการประมงปฏิบัติการ กรมประมง เข้าตรวจสอบสินค้า ณ อาคารคลังสินค้า ท่าอากาศยานหาดใหญ่ อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา โดยบูรณาการร่วมกับนายสมเกียรติ อินทร์ชู ประมงอำเภอหาดใหญ่ เฝ้าระวังการลักลอบนำเข้าหรือซื้อขายหรือครองครองสัตว์น้ำหวงห้ามผ่านสื่อออนไลน์ที่ต้องสงสัย
ในเบื้องต้นพบข้อมูลว่าจะมีการนำส่งปลาสวยงามที่อาจจะไม่มีใบอนุญาตให้ค้าหรือครอบครอง หรือลักลอบนำเข้า ซึ่งเป็นความผิดตาม พรก.การประมง พ.ศ. 2558 ในมาตรา 65 และ 92 และ พรบ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาตรา 17 ว่าด้วยห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง รวมถึงมาตรา 29 ว่าด้วยห้ามมิให้ผู้ใดค้าสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง โดยมีการนำปลาสวยงามมานำส่ง ณ คลังอาคารสินค้า ท่าอากาศยานหาดใหญ่ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการตรวจยึดสินค้าสัตว์น้ำประเภทปลาสวยงาม พบเป็น ปลาตะพัด (Scleropages formosus) มีชีวิต บรรจุในภาชนะกล่องโฟมเตรียมนำส่งไปยังท่าอากาศยานดอนเมือง จำนวน 2 กล่อง น้ำหนัก 60 กิโลกรัม จำนวน 48 ตัว มูลค่าประมาณ 288,000 บาท จึงได้อายัดสินค้าดังกล่าวไว้เพื่อตรวจสอบถึงแหล่งที่มาและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
สำหรับการกระทำดังกล่าวนอกจากจะมีความผิดตาม พรก.การประมง ที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้ว ยังมีบทลงโทษตาม มาตรา 158 ผู้ใดฝ่าฝืนตามมาตรา 92 ต้องระวางโทษปรับ 5 เท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่นำเข้า ส่งออกหรือนำผ่าน (ตาม พรก.การประมง 2558) มาตรา 144 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 65 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ตาม พรก.การประมง 2558) มาตรา 89 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 29 ถ้ากระทำต่อสัตว์ป่าคุ้มครอง ซากสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าคุ้มครอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ตาม พรบ.สงวนฯ 2558) และ มาตรา 92 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 17 โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ตาม พรบ.สงวนฯ 2558) อีกด้วย