เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



สศช. รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจน และความเหลื่อมล้ำในไทย ปี 2565


14 มิ.ย. 2567, 09:32



สศช. รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจน และความเหลื่อมล้ำในไทย ปี 2565




วันนี้ (14 มิถุนายน 2567) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับธนาคารโลก (World Bank) จัดการประชุม Bridging The Gap: Thailand’s Path to Inclusive Prosperity เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 เพื่อเผยแพร่รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในไทย ปี 2565 ของ สศช. และรายงานการลดช่องว่าง: ความเหลื่อมล้ำและการจ้างงานในประเทศไทย ของธนาคารโลก โดยมีตัวแทนสถาบันการศึกษา เข้าร่วมประชุมและนำเสนอผลงานภายใต้หัวข้อดังกล่าว
 
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในไทย ปี 2565 พบว่า สถานการณ์ความยากจนปรับตัวดีขึ้น ส่วนสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในภาพรวมทั้งด้านรายจ่ายและด้านโอกาสและคุณภาพทางการศึกษาปรับตัวดีขึ้น การเข้าถึงหลักประกันสุขภาพครอบคลุมประชากรร้อยละ 99.56 โดย สศช. ได้มีข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว เช่น ทบทวนแนวทางการจัดสรรงบฯ จัดสรรงบฯ ให้สอดคล้องกับความต้องการของนักเรียน และบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านสุขภาพ



ส่วนรายงานการลดช่องว่าง: ความเหลื่อมล้ำและการจ้างงานในประเทศไทย ของธนาคารโลก พบว่า สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของไทยลดลงอย่างรวดเร็วในห้วงปี 2553 - 2562 และเริ่มชะลอตัวตั้งแต่ปี 2558 แต่ยังคงพบความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของไทยในระดับสูง ส่วนการจ้างงานในไทยพบว่า การจ้างงานภาคเกษตรกรรมลดลง ในขณะที่การจ้างงานภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการเพิ่มขึ้น ซึ่งมีสาเหตุจาก (1) ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็กจะส่งผลสืบเนื่องไปตลอดชีวิต (2) ความเหลื่อมล้ำด้านอาชีพและระดับการศึกษาของหัวหน้าครัวเรือน (3) ความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศในตลาดแรงงานอยู่ในระดับสูง (4) มุมมองปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำจากตัวแทนสถาบันการศึกษา พบว่า ความยากจนในระดับพื้นที่มีการทับซ้อนกันระหว่างปัญหา จึงควรพิจารณาความเหลื่อมล้ำทั้งด้านโอกาส และโครงสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ เพื่อลดความเสียเปรียบในกลุ่มที่เสียเปรียบทางสังคม และการพัฒนาทุนมนุษย์
 
 
ซึ่งจากการสังเคราะห์ผลการประชุมดังกล่าว สามารถจำแนกเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการแก้ไขปัญหาได้เป็น 3 ระยะ ได้แก่
 
- แผนการดำเนินการระยะสั้น แนวทางการดำเนินการ
(1) พัฒนานโยบายการคุ้มครองทางสังคมให้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น
(2) การพัฒนาคุณภาพการศึกษา
(3) การแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือน


- แผนการดำเนินการระยะกลาง แนวทางการดำเนินการ
(1) สนับสนุนการพัฒนาทักษะใหม่ให้แรงงาน
(2) ยกระดับทักษะแรงงานเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ภาคเศรษฐกิจที่มีผลิตภาพสูง และเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม
(3) ส่งเสริมให้ผู้หญิงเข้าสู่ตลาดแรงงาน
(4) ยกระดับรายได้และผลิตภาพของเกษตรกร
 
- แผนการดำเนินการระยะยาว แนวทางการดำเนินการ
(1) เพิ่มประสิทธิภาพของนโยบายการคลัง
(2) ขยายโอกาสทางการศึกษา
(3) ลดช่องว่างเชิงพื้นที่ในการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานและบริการพื้นฐาน
(4) สนับสนุนให้ อปท. และภาคประชาสังคมมีส่วนแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ
 
ซึ่งที่ประชุม ครม. รับทราบผลการประชุมในวันอังคารที่ 11 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมาตามที่ สศช. เสนอ และให้ สศช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการต่อไป






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.