"รถไฟทางคู่" ช่วงสถานีสะพลีถึงชุมพร เสร็จแล้วพร้อมเดินรถ 4 มิ.ย. นี้
1 มิ.ย. 2567, 13:24
นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการรถไฟระหว่างเมืองว่า ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 และทางสายใหม่ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง
การเตรียมประกวดราคาโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กิโลเมตรในเดือนมิถุนายน 2567 รวมทั้งการขออนุมัติโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่อีก 5 เส้นทาง รวมระยะทาง 1,123 กิโลเมตร
สำหรับเส้นทางรถไฟทางคู่อีก 5 เส้นทาง ประกอบด้วย
1. ช่วงปากน้ำโพ – เด่นชัย
2. ช่วงชุมทางถนนจิระ -อุบลราชธานี
3.ช่วงหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์
4. ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี
5. ช่วงสุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา
ทั้งนี้ ตามขั้นตอนได้เตรียมเสนอคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย (บอร์ด รฟท.) พิจารณาอีกครั้งก่อนเสนอกระทรวงคมนาคม โดยที่ประชุมมอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทยพิจารณาเสนอขออนุมัติโครงการตามลำดับความสำคัญ
ด้านนายพิเชฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามที่กระทรวงคมนาคมได้มอบนโยบาย Quick Win “คมนาคม ของประชาชน” ให้เกิดความต่อเนื่อง มีความเชื่อมโยงระหว่างระบบขนส่งทางรางของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นระบบขนส่งหลักของประเทศกับระบบขนส่งอื่น ๆ ทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ เพื่อลดต้นทุนการขนส่ง พร้อมกับขยายขีดความสามารถในการแข่งขันด้านโลจิสติกส์ของไทยกับนานาชาติ
ซึ่งการประชุมนั้นในที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณา รายละเอียดแผนการเดินรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม-ชุมพร ระยะทาง 421 กิโลเมตร ที่ปัจจุบันได้เปิดเดินรถไฟทางคู่ช่วงสถานีบ้านคูบัว – สถานีสะพลี ระยะทาง 348 กิโลเมตรไปแล้ว และจะเปิดใช้งานเดินรถไฟทางคู่เพิ่มอีก 72 กิโลเมตร ตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันอังคารที่ 4 มิถุนายน 2567 เป็นต้นไป
ประกอบด้วย ด้านทิศใต้ของย่านสถานีนครปฐม (ประแจหมายเลข 126) – สถานีบ้านคูบัว ระยะทาง 57 กิโลเมตร และช่วงสถานีสะพลี-สถานีชุมพร (รวมหน้าย่านสถานีชุมพร ราง 1 และราง 3 ) ระยะทาง 15 กิโลเมตร ส่งผลให้สามารถเดินรถไฟทางคู่ได้รวมระยะทาง 420 กิโลเมตร โดยใช้ระบบทางสะดวก (E-token) เพื่อความปลอดภัยในการเดินรถ โดยยังคงเหลือช่วงย่านสถานีนครปฐมประมาณ 1 กิโลเมตร คาดว่าจะเปิดใช้งานได้ ในวันที่ 12 สิงหาคม 2567 นี้
ส่วนงานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณของรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม-ชุมพร (สัญญา 7) ปัจจุบันมีความคืบหน้าร้อยละ 59.762 คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนพฤษภาคม 2568 จากนั้นจึงจะเปิดรถไฟทางคู่สายใต้แบบเต็มรูปแบบต่อไป
นายพิเชฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเร่งรัดการเปิดใช้งานรถไฟทางคู่สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงมาบกะเบา – คลองขนานจิตร ที่ปัจจุบันมีคืบหน้าแล้วร้อยละ 97 เหลือช่วงที่ต้องรอเงินค่าเวนคืนเพิ่มเติมที่อยู่ระหว่างนำเสนอคณะรัฐมนตรี ก่อนดำเนินการก่อสร้างบริเวณทางลงยกระดับมวกเหล็ก และพื้นที่ส่วนที่เหลือ ซึ่งจะใช้ระยะเวลาอีกประมาณปีเศษ คาดว่าจะสามารถเปิดใช้งานทางคู่ในระยะแรก
ช่วงสถานีมาบกะเบา-สถานีมวกเหล็กใหม่ (ใช้ทางใหม่เข้าอุโมงค์ที่ 1 (อุโมงค์ผาเสด็จ) และออกจากอุโมงค์ที่ 2 (อุโมงค์หินลับ) จะเบี่ยงขวาเข้าทางรถไฟเดิมก่อนถึงสถานีมวกเหล็กใหม่) ระยะทาง 13 กิโลเมตร และช่วงสถานีบันไดม้า – สถานีคลองขนานจิตร ระยะทาง 30 กิโลเมตร รวมระยะทาง 43 กิโลเมตรได้ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2567 นี้
ส่วนการเปิดใช้งานอุโมงค์ที่ 3 (อุโมงค์ลำตะคอง) ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างเตรียมก่อสร้างทางรถไฟเพิ่มเติมอีก 237 เมตรไปบรรจบทางรถไฟเดิม คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดใช้งานปลายปี 2567 นี้
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เร่งรัดการรถไฟแห่งประเทศไทยดำเนินการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ โดยเฉพาะสัญญาที่ 1 ช่วงบ้านกลับ-โคกกระเทียม ซึ่งปัจจุบันมีความคืบหน้ากว่า 92% โดยให้มีการกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จให้ชัดเจน เพื่อแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมระบบขนส่งสาธารณะขนาดรอง (feeder) มารองรับการเชื่อมต่อให้สอดคล้องกับช่วงที่มีการเปิดใช้งานสถานีลพบุรีแห่งใหม่ประมาณปลายปี 2567 นี้
นายพิเชฐ กล่าวปิดท้ายว่า การก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะที่ 1 ปัจจุบันมีความคืบหน้างานโยธาไปมากพอสมควร และอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณให้แล้วเสร็จตามแผนงาน ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้ให้ความสำคัญและเร่งรัดการดำเนินงานโครงการรถไฟทางคู่ เพื่อให้สามารถเปิดใช้งานเดินรถไฟทางคู่
ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาการเดินทาง และเพิ่มความปลอดภัยในการเดินรถให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สามารถรองรับการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอีกด้วย
ด้าน นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม มอบหมายให้ นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ประชุมหารือกับ Mr. Jeremy Regino (นายเจเรมี เรจิโน) ปลัดกระทรวงคมนาคมสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ (ด้านกิจการรถไฟ) Undersecretary for Railways, Department of Transportation (DoTr) และคณะ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การบริหารโครงการลงทุนระบบรางขนาดใหญ่ของกระทรวงคมนาคม
โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา – หนองคาย ในด้านสถานะโครงการฯ ความท้าทาย และแนวทางการปฏิบัติ โดยมีผู้แทนกรมการขนส่งทางราง การรถไฟแห่งประเทศไทย กระทรวงการต่างประเทศ และกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมประชุม
คณะผู้แทนจากกระทรวงคมนาคม สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ นำโดย Mr. Jeremy Regino ปลัดกระทรวงคมนาคม (ด้านกิจการรถไฟ) มีกำหนดพำนักในประเทศไทยระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม – 3 มิถุนายน 2567 และมีกำหนดเยี่ยมชมสถานที่โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ในวันที่ 1 มิถุนายน 2567 ประเทศฟิลิปปินส์อยู่ระหว่างเตรียมการดำเนินโครงการ PNR South Long Haul Project (SLH)
ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาระบบรางที่สำคัญเพื่อเชื่อมกรุงมะนิลากับจังหวัด Sorsogon โดยโครงการฯ มีบริษัท CRDC – WACC เป็นที่ปรึกษา ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง China Railway Design Corporation (CRDC) และ The Guangzhou Wanan Construction Supervision Co., Ltd.
ในส่วนของการประชุมหารือ กระทรวงฯ ได้นำเสนอภาพรวมการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา – หนองคาย โครงสร้างของหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลโครงการเป็นอย่างไร และปัญหาที่พบในการดำเนินโครงการฯ
โดยรัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งไปสู่ระบบราง เพื่อให้ระบบรางเป็นโหมดการขนส่งหลักสำหรับการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า