"พิพัฒน์" หารือทุกภาคส่วน รับฟังผลกระทบขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั้งประเทศ
13 พ.ค. 2567, 15:20
วันนี้ ( 13 พ.ค.67 ) นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รับยื่นหนังสือจากกลุ่มแรงงาน นำโดย นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธาน และนายมานพ เกื้อรัตน์ แกนนำสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ที่ได้นำสมาชิกกว่า 150 คน มายื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมทำกิจกรรมแสดงจุดยืนและสนับสนุนให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั้งประเทศ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้แถลงไว้ โดยมี นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วม ณ บริเวณด้านล่าง อาคารกระทรวงแรงงาน โดยกลุ่มแรงงานได้นำเครื่องอุปโภคบริโภคที่พี่น้องแรงงานจำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวันพร้อมติดป้ายไว้เพื่อแสดงให้เห็นว่า ปัจจุบันค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้นทั่วประเทศ ค่าจ้างจึงต้องปรับอัตราเดียวกันทั้งประเทศเช่นกัน พร้อมส่งเสียงให้กำลังใจนายพิพัฒน์ ที่จะปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั้งประเทศ
นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ผมขอยืนยันถึงเจตนารมณ์ในการปรับค่าจ้าง 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศแต่ต้องเข้าใจว่ามันจะปรับค่าแรง 400 บาททั่วประเทศไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้ตามที่คิดและตั้งใจทั้งหมดแต่ก็จะเดินหน้าไปพร้อมกัน ผมและปลัดกระทรวง ข้าราชการจะสู้เพื่อชาวแรงงานอย่างเต็มที่ นายกรัฐมนตรีได้ให้กระทรวงแรงงานไปพิจารณากับค่าจ้างซึ่งได้มีการหารือกันแล้วคิดว่าถึงเวลาที่ต้องปรับ 400 บาท เพื่อเป็นก้าวแรกก่อน โดยกระทรวงพาณิชย์จะต้องช่วยควบคุมราคาสินค้าไม่ให้สูงขึ้นเมื่อมีการปรับค่าจ้าง ส่วนกระทรวงแรงงานจะหารือสภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า และ เอสเอ็มอี เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือในด้านต่างๆ อาทิ ด้านภาษี และการอัพสกิล รีสกิล ให้กลุ่มลูกจ้าง โดยยืนยันจะทำให้เร็วที่สุดตามที่ได้รับมอบหมาย
จากนั้น นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมหารือผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมเอสเอ็มอีไทย โดยมี นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมหารือ ณ ห้องประชุมประสงค์ รณะนันทน์ ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน สำหรับการประชุมดังกล่าวมีสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมเอสเอ็มอีไทยเข้าร่วมกว่า 40 คน วัตถุประสงค์เพื่อรับฟังผลกระทบการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน รับฟังความต้องการการช่วยเหลือจากผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ นำมากำหนดเป็นมาตรการช่วยเหลือ และนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง เสนอต่อคณะรัฐมนตรี
นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ในวันนี้ผมถือโอกาสเชิญทุกฝ่ายมาหารือกัน ซึ่งผมจะรับเรื่องทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นสภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า เอสเอ็มอี และสมาคมต่างๆ ที่ได้หารือกันในวันนี้เพื่อนำไปกำหนดแนวทางในการที่จะหาจุดสมดุลในการปรับค่าจ้างที่เหมาะสมร่วมกัน ตัวผมเองจะนำเรื่องนี้ไปหารือกับท่านนายกรัฐมนตรี ซึ่งท่านได้ตั้งนโยบายไว้ว่าในปี 2567 เราอยากจะเห็นค่าจ้าง 400 บาททั้งประเทศ สิ่งไหนที่สามารถทำได้เราก็จะเดินหน้า สิ่งไหนที่ติดปัญหา เราก็จะต้องจับเข่าคุยกัน เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด โดยเฉพาะเมื่อค่าแรงขึ้นไปแล้วสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกอบการอยากจะให้รัฐบาลช่วยในเรื่องอะไร จึงอยากให้ผู้ประกอบการช่วยนำเสนอ เช่น การที่จะไปถึงตรงนั้นได้รัฐจะต้องสนับสนุนเรื่องอะไร เช่น การ Up skill/ Re skill หรือสิทธิประโยชน์ด้านภาษี ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราคงต้องหารือกันมากกว่าในวันนี้ ซึ่งการประชุมของไตรภาคีในวันพรุ่งนี้ (14 พ.ค.67) เป็นเรื่องของไตรภาคีซึ่งเป็นไปตามกลไก ส่วนในอีก 76 จังหวัดมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด ซึ่งจะได้เชิญผู้ประกอบการทุกกลุ่มมาพูดคุยหารือกันเหมือนในวันนี้ว่ามีทางออกที่ดีที่สุดอย่างไร
ด้าน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังการประชุมหารือร่วมกับผู้ประกอบการว่า วันนี้ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่นายจ้างเห็นความสำคัญของการขึ้นค่าจ้าง ตามที่สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาคมก่อสร้าง เอสเอ็มอี ผู้ประกอบการค้าปลีกในตลาดสดที่มีการใช้แรงงานอย่างเข้มข้นมายื่นหนังสือคัดค้านการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ ซึ่งจากการหารือเพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้ประกอบการนั้นในวันนี้นั้น ซึ่งกระทรวงแรงงานรู้สึกดีใจที่ทุกหน่วยงานเห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรง แต่ว่าไม่เห็นด้วยกับการขึ้นพร้อมกันทั้งประเทศ และยังมองว่าเห็นใจลูกจ้างพี่น้องผู้ใช้แรงงาน เพื่อให้มีค่าครองชีพที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ ซึ่งขอให้เป็นไปตามระบบเศรษฐกิจ ซึ่งคณะกรรมการค่าจ้างจะพิจารณาอย่างรอบคอบตามหลักไตรภาคีอยู่แล้วว่าจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศอย่างไร ซึ่งทางไตรภาคีจะมีการประชุมวันพรุ่งนี้ (14 พ.ค.67) ซึ่งจะมีมติให้คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดไปศึกษาแนวทางการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของแต่ละจังหวัดมาเพื่อเข้าสู่คณะกรรมการค่าจ้างชุดใหญ่ในการพิจารณาขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อไป