ปลัดอุตฯ เซ็นคำสั่งตั้งศูนย์บริหารภาวะฉุกเฉิน เน้นทำงานเชิงรุก ป้องกันเฝ้าระวังเหตุฉุกเฉิน ย้ำต้องรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ
9 พ.ค. 2567, 09:47
วันที่ 8 พฤษภาคม 2567 ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2567 ตนได้ลงนามคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) จัดตั้งศูนย์บริหารภาวะฉุกเฉินจากการประกอบการที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงอุตสาหกรรม (ศบฉ.อก.) เพื่อทำงานเชิงรุกในการกำหนดระบบ แผน และมาตรการกรณีเกิดภาวะฉุกเฉิน รวมทั้งการสั่งการให้ส่วนราชการในสังกัด อก. ปฏิบัติ พร้อมทั้งจัดทำรายงานและเผยแพร่ข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การปฏิบัติงาน การป้องกันเฝ้าระวังเหตุ และการบริหารงานในภาวะฉุกเฉินภายของกระทรวง มีความคล่องตัว รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เนื่องจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในระยะที่ผ่านมาได้เกิดเหตุที่มีความรุนแรงและเป็นภาวะฉุกเฉินในพื้นที่จุดเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง โดยโครงสร้างของ ศบฉ.อก. จะมี นายสุรพล ชามาตย์ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นที่ปรึกษา
นายเอกภัทร วังสุวรรณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านกำกับตรวจสอบกระบวนการผลิต เป็นหัวหน้า ศบฉ.อก. และมีผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รองประธานกรรมการบริหารกลุ่มตรวจราชการ 1-6 โดยมีผู้อำนวยการกองตรวจราชการ สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นเลขานุการประจำศูนย์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมเทคโนโลยีความปลอดภัยโรงงาน กรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นเลขานุการประจำศูนย์ร่วม และผู้อำนวยการกองกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นผู้ช่วยเลขานุการประจำศูนย์
ด้าน นายเอกภัทร วังสุวรรณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหัวหน้า ศบฉ.อก. กล่าวว่า ศบฉ.อก. ได้มีการประชุมเพื่อวางแผนจัดทำมาตรการป้องกันและสกัดกั้นการเผชิญเหตุสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกิดจากการประกอบกิจการโรงงาน เช่น การเกิดอัคคีภัย การรั่วไหลของสารเคมีและวัตถุอันตราย เป็นต้น โดยได้จัดทำแผนและมาตรการในการดำเนินงานใน 3 ระดับ ได้แก่ 1) แผนและมาตรการป้องกันความเสี่ยงเพื่อไม่ให้เกิดเหตุ เช่น มอบหมายให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมจังหวัดทุกจังหวัดประสานผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการร่วมตรวจสอบเฝ้าระวังโรงงาน สถานประกอบการ และโกดังคลังสินค้าที่มีความเสี่ยงสูงที่จะมีผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม เช่น โรงงานผู้รับกำจัดกากอุตสาหกรรม โรงงานหล่อหลอมโลหะ โรงงานเคมีภัณฑ์ โรงงานผลิตปุ๋ยเคมี โรงงานน้ำแข็งและห้องเย็น รวมถึงโรงงาน สถานประกอบการ และโกดังคลังสินค้าที่มีการกักเก็บสารเคมีและวัตถุอันตราย
นอกจากนี้ ได้สั่งการให้จัดเตรียมข้อมูลวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ สารเคมี กากอุตสาหกรรม วัตถุอันตราย และแผนผังโรงงานที่มีความเสี่ยง เพื่อเตรียมความพร้อมในการเผชิญเหตุได้อย่างทันท่วงที 2) แผนและมาตรการระงับเหตุ โดยการจัดหาอุปกรณ์สนับสนุนการดับเพลิง เช่น โฟม สารเคมีดับเพลิง และถังบรรจุสารเคมี แต่งตั้งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมทีมดับเพลิงระงับเหตุ ให้ข้อมูลโรงงาน สารเคมี วัตถุอันตราย แผนผังโรงงาน สนับสนุนวิธีการและมาตรการสำหรับทีมดับเพลิงระงับเหตุ จัดตั้งทีมสื่อสารเพื่อประสานงาน รวบรวม ชี้แจงและเผยแพร่ข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนให้ได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องตลอดเวลา อีกทั้ง การจัดเตรียมมาตรการเยียวยาผู้ประสบภัยในเบื้องต้น
เช่น การสนับสนุนเครื่องอุปโภค บริโภค อาหาร น้ำดื่ม หน้ากากอนามัย ผ่านโครงการ “อุตสาหกรรมรวมใจ ช่วยพี่น้องชาวไทย” ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ และ 3) แผนและมาตรการฟื้นฟูพื้นหลังการเกิดเหตุ เช่น
การจัดตั้งทีมกฎหมายเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดอย่างถึงที่สุด การจัดทำขั้นตอนการดำเนินการคัดแยก
การนำสารเคมีและกากอุตสาหกรรมออกจากพื้นที่ และการนำของเสียจากที่เกิดเหตุไปทำการบำบัดและกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ตลอดจนตรวจวัดติดตามคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทั้งดิน น้ำ และอากาศ บริเวณสถานที่เกิดเหตุและชุมชนโดยรอบอย่างต่อเนื่อง เพื่อประเมินผลกระทบ และจัดทำแนวทางในการแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที
โดย ดร.ณัฐพล กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก ตนได้เน้นย้ำให้ ศบฉ.อก. วางมาตรการป้องกัน เฝ้าระวังและสกัดกั้นการเผชิญเหตุฉุกเฉินในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง หรือพื้นที่มีการรายงานการกระทำผิด โดยเฉพาะจุดที่มีการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมที่เป็นประเด็นอยู่ในสังคมขณะนี้ คือ บริษัท วิน โพเสส จำกัด จังหวัดระยอง และ บริษัท เอกอุทัย จำกัด จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้รับรายงานว่า ทั้ง 2 บริษัท
เป็นเครือข่ายที่มีความเชื่อมโยงทางธุรกิจกันอย่างมีนัยสำคัญ