เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



สดร. เปิดภาพ "สุริยุปราคาเต็มดวง" มาฝากชาวไทย พบจุดเกิดคราสเต็มดวงนานที่สุดอยู่ที่เม็กซิโก


9 เม.ย. 2567, 11:46



สดร. เปิดภาพ "สุริยุปราคาเต็มดวง" มาฝากชาวไทย พบจุดเกิดคราสเต็มดวงนานที่สุดอยู่ที่เม็กซิโก




สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยภาพ “สุริยุปราคาเต็มดวง” วันที่ 8 เม.ย.67 ที่เมืองโบรกเคนโบว์ รัฐโอคลาโฮมา สหรัฐฯ  แม้ว่าขณะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงในครั้งนี้สภาพท้องฟ้ามีเมฆบางๆ ตลอดปรากฏการณ์ แต่ก็สามารถสังเกตเห็นปรากฏการณ์ลูกปัดของเบลีย์ ปรากฏการณ์แหวนเพชร ชั้นโคโรนา และเปลวสุริยะได้อย่างชัดเจน

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) นำทีมเจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ เดินทางมาเก็บข้อมูล และศึกษาปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง ตั้งจุดสังเกตการณ์บริเวณทะเลสาบโบรกเคนโบว์ รัฐโอคลาโฮมา สหรัฐฯ ซึ่งเป็นบริเวณที่แนวคราสเต็มดวงพาดผ่าน ใกล้กึ่งกลางแนวคราสเต็มดวง ตั้งกล้องโทรทรรศน์ อุปกรณ์สังเกตการณ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมชนิดต่างๆ เพื่อศึกษาปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงในครั้งนี้ รวมทั้งเก็บภาพมาฝากชาวไทย

นอกจากนี้ ยังมีนักดาราศาสตร์สมัครเล่นชาวไทยจำนวนหนึ่ง เดินทางจากประเทศไทยมาร่วมสังเกตการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงในครั้งนี้อีกด้วย



ปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงในวันที่ 8 เม.ย.67 เริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ 10.42 น. ตามเวลาท้องถิ่นในสหรัฐฯ ช่วงเช้าวันดังกล่าว สภาพท้องฟ้ามีเมฆมากเป็นบริเวณกว้างทั่วอาณาบริเวณตอนล่างของสหรัฐฯ NARIT กำหนดตั้งจุดสังเกตการณ์ ที่เมืองโบรกเคนโบว์ รัฐโอคลาโฮมา ซึ่งหลังจากเวลาเป็นต้นไป 12.00 น. เมฆเริ่มสลาย เหลือเพียงเมฆบางๆ 

จนกระทั่งเวลา 12.28 น. ดวงจันทร์ เริ่มบดบังดวงอาทิตย์ เข้าสู่ช่วงสุริยุปราคาบางส่วน หลังจากนั้นเวลา 13.46 น. ดวงจันทร์บดบังดวงอาทิตย์ทั้งดวง เข้าสู่ช่วงสุริยุปราคาเต็มดวง ท้องฟ้ายังคงมีเมฆบางๆ แต่ก็สามารถสังเกตเห็นปรากฏการณ์แหวนเพชร ปรากฏการณ์ลูกปัดของเบลีย์ ชั้นโคโรนา และเนื่องจากช่วงนี้ดวงอาทิตย์อยู่ในช่วง Solar Maximum ทำให้สามารถสังเกตเห็น เปลวสุริยะ พวยพุ่งเป็นสีแดง เห็นชัดด้วยตาเปล่าตลอดช่วงเวลาคราสเต็มดวง นอกจากนี้ยังสามารถสังเกตปรากฏการณ์ข้างเคียงได้อย่างชัดเจน อาทิ ปรากฏการณ์เงาเสี้ยว ขณะดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์จนมิด กินเวลานานถึง 4 นาที 17 วินาที ท้องฟ้ามืดจนสามารถสังเกตเห็นดาวพฤหัสบดี และดาวศุกร์ ปรากฏบนท้องฟ้าเป็นที่น่าประทับใจยิ่ง 


สุริยุปราคาเต็มดวงในครั้งนี้ เป็นสุริยุปราคาลำดับที่ 30/71 ชุดซารอสที่ 139 ประเทศไทยไม่สามารถสังเกตเห็นได้ เงามืดของดวงจันทร์ เริ่มสัมผัสพื้นโลกบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก ตั้งแต่เวลาประมาณ 23.39 น.วันที่ 8 เม.ย.67 ตามเวลาประเทศไทย จากนั้นพาดผ่านประเทศเม็กซิโก สหรัฐฯ แคนาดา และสิ้นสุดคราสเต็มดวงบริเวณมหาสมุทรแอตแลนติก เวลาประมาณ 02.55 น. ของวันที่ 9 เม.ย.67 ตามเวลาประเทศไทย (จุดที่เกิดคราสเต็มดวงนานที่สุดอยู่บริเวณเมืองนาซาส รัฐดูรังโก ประเทศเม็กซิโก ระยะเวลานานถึง 4 นาที 28 วินาที) และเงาของดวงจันทร์จะพ้นจากโลกโดยสมบูรณ์เวลาประมาณ 03.52 น. วันที่ 9 เม.ย.67 ตามเวลาประเทศไทย

ปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 12 ส.ค.69 ผ่านประเทศสเปน มหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ประเทศไอซ์แลนด์ ประเทศเดนมาร์ก (กรีนแลนด์) บริเวณขั้วโลกเหนือ และบางส่วนของประเทศรัสเซีย

ปรากฏการณ์สุริยุปราคาที่สามารถสังเกตได้ในประเทศไทย จะเกิดขึ้นในวันที่ 2 ส.ค.70 เห็นเป็น “ปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วน” สังเกตได้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ในช่วงเย็นก่อนดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า ตั้งแต่เวลาประมาณ 17.54-18.45 น. ตามเวลาประเทศไทย


คำที่เกี่ยวข้อง : #สดร.   #สุริยุปราคาเต็มดวง  




Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.