กรมชลประทาน-สทนช.เตรียมลงพื้นที่สำรวจพื้นที่ก่อสร้าง ปากอุโมงค์-ปลายอุโมงค์ โครงการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์
4 ก.พ. 2567, 23:12
วันนี้ 4 ก.พ.67 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า จากกรณีกรมชลประทานและสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)เตรียมดำเนินโครงการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ไปช่วยเหลือพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งของจังหวัดกาญจนบุรี โดยมีองค์ประกอบของโครงการตั้งอยู่ในเขตอำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอบ่อพลอย อำเภอห้วยกระเจา และอำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งรายละเอียดองค์ประกอบโครงการ คือ 1. อาคารหัวงานอุโมงค์ผันน้ำขนาด 4.20 เมตร ความยาวประมาณ 20.53 กม. จากบริเวณอ่างเก็บน้ำ เขื่อนศรีนครินทร์ไปยังอ่างเก็บน้ำลำอีซู (ขยาย) ผันน้ำได้สูงสุด 12 ลบ.ม./วินาที
2.ระบบส่งน้ำ ท่อส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำอีซู (ขยาย) ไปยังบ่อพักน้ำหลุมรัง เป็นท่อเหล็กเหนียวขนาด 2.50 เมตร ระยะทาง 14.267 กิโลเมตร อัตราการไหลสูงสุด 12 ลบ.ม./วินาที บ่อพักน้ำหลุมรัง ขนาดพื้นที่ 651 ไร่ ความจุประมาณ 3.70 ล้านลูกบาศก์เมตร คลองส่งน้ำจากบ่อพักน้ำหลุมรัง ไปยังพื้นที่รับประโยชน์ฝั่งซ้ายของคลองลำตะเพิน ในเขตอำเภอบ่อพลอย ห้วยกระเจา และเลาขวัญ ขนาดคลองส่งน้ำ สายใหญ่มีความกว้างท้องคลอง 3.00 ม. ลึก 2.20 ม. ลาดด้านข้าง 1-1.5 ยาว 94.20 กม. เขตคลอง 40.00 ม. มีอัตราการส่งน้ำสูงสุด 10 ล้านลูกบาศก์เมตร/วินาที และมีท่อแยกซอยจากคลองส่งน้ำสายใหญ่รวม 42 สาย ความยาว รวม 314.00 กม.
3.พื้นที่รับประโยชน์ คลองส่งน้ำจากบ่อพักน้ำหลุมรัง ไปยังพื้นที่รับประโยชน์ฝั่งซ้ายของคลองลำตะเพิน ในเขตอำเภอบ่อพลอย ห้วยกระเจา และเลาขวัญ ขนาดคลองส่งน้ำ สายใหญ่มีความกว้างท้องคลอง 3.00 ม. ลึก 2.20 ม. ลาดด้านข้าง 1:1.5 ยาว 94.20 กม. เขตคลอง 40.00 ม. มีอัตราการส่งน้ำสูงสุด 10 ล้านลูกบาศก์เมตร/วินาที และมีท่อแยกซอยจากคลองส่งน้ำสายใหญ่รวม 42 สาย ความยาวรวม 314.00 กม.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดกรมชลประทานและสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)ได้มีกำหนดการลงพื้นที่โครงการอุโมงค์ผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จังหวัดกาญจนบุรี ระหว่างวันที่ 12-13 ก.พ.2567 ที่จะถึงนี้ โดยวันที่ 12 ก.พ.กรมชลประทานและสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และผู้ที่เกี่ยวข้อง จะประชุมเตรียมความพร้อมกันที่โรงแรมแห่งหนึ่งในพื้นที่ ต.ท่ามะขาม อ.เมือง จ.กาญจนบุรี
จากนั้นช่วงเช้าวันที่ 13 ก.พ.67 คณะทั้งหมดเดินทางไปดูพื้นที่บริเวณหัวงานอุโมงค์ ดูแนวรั้วไฟฟ้าป้องกันช้างป่าแนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ช่วงบ่ายเดินทางไปอ่างเก็บน้ำลำอีซู อ.บ่อพลอย เพื่อดูพื้นที่บริเวณอ่างเก็บน้ำลำอีซู หัวปลายอุโมงค์ และพื้นที่จัดการวัสดุปลายอุโมงค์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 17 ม.ค.67 ที่ผ่านมา มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้แถลงการณ์ คัดค้าน ระบุว่า ขอคัดค้านการผ่านรายงานการสร้างอุโมงค์ผันน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จังหวัดกาญจนบุรี ของกรมชลประทานและสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จากการประชุมคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำครั้งที่ 26/2566 หากดำเนินการปรับปรุงแก้ไขรายละเอียดตามความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการแล้ว สามารถเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่อให้ความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี
สืบเนื่องจากการก่อสร้างอุโมงค์ผ่านน้ำในบริเวณพื้นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าสำคัญใกล้สูญพันธุ์ และเป็นเรื่องของความมั่นคงต่อระบบนิเวศโดยรอบ ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ อีกทั้งยังเป็นป่าผืนเดียวกันกับทุ่งใหญ่เนรศวรและห้วยขาแข้ง ซึ่งถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ส่งผลให้รอยต่อของป่าทุกตารางนิ้วนั้นมีความสำคัญต่อระบบนิเวศโดยรวมของพื้นที่ ความต่อเนื่องของเขตป่านั้นจะเป็นประโยชน์แก่การขยายพันธุ์และการหาอาหารของสัตว์ป่า
พื้นที่ก่อสร้างในบริเวณนี้มีลักษณะเป็นภูเขาและที่สูง มีพื้นที่ด้านเหนือและด้านตะวันตกอยู่ในอำเภอศรีสวัสดิ์ ถัดไปด้านตะวันออกเป็นเขตที่ราบเชิงเขา อยู่ในอำเภอบ่อพลอย อำเภอหนองปรือ อำเภอเลาขวัญ และอำเภอห้วยกระเจา พื้นที่โดยรอบเป็นพื้นที่เกษตรกรรมซึ่งมีปัญหาเรื่องสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่ ยกตัวอย่างเช่น ช้างป่า
หากมีการขุดเจาะอุโมงค์อาจเป็นการเพิ่มโอกาสให้เกิดปัญหาสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่มากขึ้น และเพิ่มปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่า เนื่องจากโครงการนี้ไม่ได้มีการลงพื้นที่สำรวจอย่างจริงจัง มีเพียงแต่การใช้ข้อมูลทุติยภูมิประกอบการทำรายงาน ซึ่งอาจทำให้ขาดข้อมูลที่สำคัญ เนื่องจากไม่ได้อัปเดตข้อมูลปัจจุบันของสภาพแวดล้อมโดยรอบในเรื่องของนิเวศป่าไม้ สัตว์ป่า และสภาพทางธรณีวิทยา
พื้นที่ตามแนวอุโมงค์เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง ทั้งจากเครื่องจักรและคนที่เข้าไปทำการสำรวจพื้นที่ หากดำเนินการจะเป็นการรบกวนถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าอย่างรุนแรง รวมทั้งอาจมีปัญหาการเข้าบำรุงรักษาพื้นที่แนวอุโมงค์
กรมชลประทานและสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ยังมีทางเลือกอื่นที่จะสามารถบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จังหวัดกาญจนบุรีโดยไม่ต้องใช้ทางเลือกที่ส่งผลกระทบต่อที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าโดยตรงและควรดำเนินการเลือกพื้นที่เหมาะสมนอกพื้นที่คุ้มครอง