ทั่วโลกเรียกร้องจีน ยุติโครงการวิจัยโควิด-19 หลังทำให้กลายพันธุ์ใหม่ ที่มีอันตรายสูง
19 ม.ค. 2567, 14:11
วันที่ 19 ม.ค.2567 เมื่อเวลา 09.20 น. Center for Medical Genomics ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี รายงานว่า ทีมวิจัยจีนแยกโคโรนาไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์ “GX/P2V” ได้จากตัวนิ่มมลายูจากนั้นกระตุ้นให้กลายพันธุ์ในห้องปฏิบัติการเกิดสายพันธุ์ใหม่ “GX/P2V(short_3UTR)” ที่มีอันตรายสูง หนูทุกตัวที่ติดเชื้อจะตายทั้งหมด 100% เนื่องจากเซลล์สมองถูกทำลาย
เริ่มในปี 2560 ทีมวิจัยจีนนำโดย ดร.ยี่กวน (Yi Guan) จากมหาวิทยาลัยฮ่องกงสามารถแยกไวรัสโคโรนากลุ่มอาการทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง 2 (SARS-CoV-2) ซึ่งมีรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมคล้ายกับไวรัสโคโรนา 2019 ได้จาก“ตัวนิ่มมลายู (Malayan pangolins)” ซึ่งสัตว์สงวนเลี้ยงลูกด้วยนมที่ถูกลักลอบนำไปขายในจีน ซึ่งมีการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Nature ก่อนการระบาดของโควิด-19 ถึง 3 ปี
ไวรัส SARS-CoV-2 ที่แยกได้ในขณะนั้นมีชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า SARS-CoV-2 สายพันธุ์ “GX_P2V” ซึ่งย่อมาจาก "pangolin-CoV GX_P2V” ชี้ให้เห็นว่าตัวนิ่มเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีกประเภทหนึ่งนอกเหนือจากค้างคาวที่สามารถเป็นรังโรคของโคโรนาไวรัส SARS-CoV-2 ได้เช่นกัน
7 ปี ถัดมา ทีมวิจัยจีนเช่นกันนำโดย ดร. ลี่หัวซ่ง (Lihua Song) ในเครือของ Beijing Advanced Innovation Center for Soft Matter Science and Engineering, College of Life Science and Technology, Beijing University of Chemical Technology, ปักกิ่ง ประเทศจีน ได้นำเสนอผลงานวิจัยเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2567 ในฐานข้อมูลออนไลน์ “bioRxiv” (ยังรอการตรวจสอบจากผู้ทรงคุณวุฒิ) ระบุว่าทีมผู้วิจัยได้นำโคโรนาไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์ “GX_P2V” มาเพาะเลี้ยงกับเซลล์ (vero cell) ในห้องปฏิบัติการ จนเกิดการกลายพันธุ์ มีชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า “GX_P2V(short_3UTR)” เป็นสายพันธุ์ที่อันตรายมาก สามารถแพร่กระจายผ่านละอองสารคัดหลั่งจากระบบทางเดินหายใจขนาดเล็กที่กระจายและลอยอยู่ในอากาศเมื่อผู้ติดเชื้อไอ จาม หรือหายใจออก
โคโรนาไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์ “GX_P2V (short_3UTR)” พบว่ามีจีโนมส่วนหนึ่งขาดหายไป 104 นิวคลีโอไทด์บริเวณ 3'-UTR เมื่อนำไปทดลองติดเชื้อกับหนูทดลอง ACE2-Transgenic (Human ACE2-Transgenic Mice) ซึ่งเป็นหนูที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมให้มี “ตัวรับ “ACE2” ( ACE-2 receptor) ของมนุษย์” ปรากฏบนผิวเซลล์ของหนูได้ ไวรัสโคโรนา 2019 จะต้องอาศัยการเข้าจับกับตัวรับ “ACE2” บนผิวเซลล์ก่อนแทรกตัวเข้าไปเพิ่มจำนวนในเซลล์ การปรับเปลี่ยนนี้ทำให้หนูสามารถติดเชื้อไวรัสโควิด 2019 ได้เช่นเดียวกับมนุษย์ และพัฒนาอาการคล้ายกับที่พบในมนุษย์
หนูทดลอง ACE2-Transgenic เหล่านี้หลังติดเชื้อจะมีน้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว ตั้งท่าก้มตัวและเดินช้าอย่างไม่น่าเชื่อ ส่วนใหญ่จะเสียชีวิตภายใน 8 วันหลังการติดเชื้อ ไวรัสมีการแพร่ระบาดไปยังอวัยวะต่างๆ ทั้งปอด กระดูก ดวงตา หลอดลม และสมอง
การติดเชื้อในสมองมีความรุนแรงถึงขั้นทำให้หนูเสียชีวิตได้ และก่อนที่หนูติดเชื้อจะเสียชีวิต จะมีลักษณะเฉพาะคือดวงตาจะเปลี่ยนเป็นสีขาวโพลน
ทีมวิจัยจากจีนแถลงว่าการวิจัยนี้เป็น “แบบจำลองสำคัญที่จำเพาะ” เพื่อให้เข้าใจกลไกการก่อโรคของไวรัสที่เกี่ยวข้องกับ SARS-CoV-2 เพื่อหาวิธีป้องกันและรักษาโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะโควิด-19 และเน้นย้ำถึงความเสี่ยงที่การแพร่กระจายของ GX_P2V จากตัวนิ่มมาสู่มนุษย์ (zoonosis)
แต่ผู้เชี่ยวชาญอีกหลายคนเห็นต่าง เห็นว่าได้ไม่คุ้มเสีย มีความเสี่ยงสุ่มเกินไปหากไวรัสเกิดอุบัติเหตุหลุดลอดออกไปจากห้องปฏิบัติการ (lab leak) เกิดการระบาดระหว่างคนสู่คนไปทั่วโลก (pandemic) ซึ่งอาจทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และที่น่ากังวลกว่านั้นคือไวรัสดังกล่าวถูกใช้เป็นอาวุธชีวภาพ
ไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์ “GX_P2V (short_3UTR)” ไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติแต่มนุษย์เป็นผู้สร้างขึ้น ดังนั้นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกเรียกร้องให้ทีมวิจัยนี้ยุติโครงการวิจัยและทำลายไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าวในทันที
ทั้งนี้ ตัวนิ่มหรือลิ่นมลายูหรือที่รู้จักกันในชื่อตัวนิ่มซุนดา พบได้ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่นใน เมียนมา ไทย กัมพูชา ลาว มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม รวมถึงเกาะบอร์เนียว ชวา สุมาตรา และ หมู่เกาะซุนดาน้อย พบเป็นรังโรคของไวรัสหลายชนิด เช่นเดียวกับค้างคาว