คืบหน้า นศ.คุกเข่าร่ำไห้ไหว้ กยศ. "ส.ส.สุรชาติ" นักต่อสู้เพื่อความถูกต้องสุดทนเตรียมนำข้อมูลเข้าหารือ นายก รมต.และ รมว.คลัง
14 ม.ค. 2567, 14:58
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ได้มีคณะเจ้าหน้าที่จากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จำนวน 8 คน โดยได้เดินทางมาที่มหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่ง เขต อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ เพื่อมารับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินการให้กู้ยืมเงินของสถานศึกษากับนักศึกษา โดยได้ขอให้ทางมหาวิทยาลัยแจ้งให้ น.ศ.ที่มีปัญหาติดขัดจำนวน 517 ราย มาพบกับเจ้าหน้าที่ของกองทุนเพื่อสอบถามข้อมูลประกอบการพิจารณาอนุมัติเงินกู้ยืมเรียน โดยมี น.ศ.จำนวน 5 ราย นำโดย นายมหินธร น.ศ.ชั้นปีที่ 2 คณะรัฐศาสตร์ และ น.ส.อุไรรัตน์ น.ศ.ชั้นปีที่ 4 คณะการจัดการและเพื่อน น.ศ.ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้รวมจำนวน 5 คน ได้เดินทางมาพบกับคณะเจ้าหน้าที่ของ กยศ. ซึ่งกลุ่ม น.ศ.ทุกคนที่มาพบกับคณะเจ้าหน้าที่ กยศ.ต่างมีสีหน้าเศร้าหมอง เนื่องจากว่า ได้กู้เงิน กยศ.เรียนมาตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 แล้ว และเมื่อถูกเรียกมาพบกับเจ้าหน้าที่ของ กยศ.ก็ต่างพากันวิตกกังวลใจ เกรงว่า จะไม่ได้รับอนุมัติเงินกู้ยืมเรียนต่อไปอีก เพราะว่าขณะนี้กำลังเรียนใกล้จะสำเร็จการศึกษาแล้ว โดยกลุ่ม น.ศ.ได้พูดจาอ้อนวอนคณะเจ้าหน้าที่ กยศ.ว่า ขอความเมตตาอย่าได้ตัดสิทธิ์เงินกู้ยืมเรียนของพวกตน และได้คุกเข่าลงร่ำไห้ไหว้เจ้าหน้าที่ของ กยศ.อ้อนวอนว่า ไม่ให้ติดสิทธิ์เงินกู้ยืมเรียนของพวกตน และได้ขอข้อมูลแบบสอบถามคืนจากเจ้าหน้าที่ กยศ. ล่าสุด เจ้าหน้าที่ของ กยศ.ได้มีการไปเรียกเอา น.ศ.ที่กำลังเรียนหนังสือและไม่มีชื่อใน 517 ราย มาสัมภาษณ์ ทำให้เกิดความกังวลสับสนในกลุ่ม น.ศ.ที่กำลังเรียนหนังสือเป็นอย่างมาก ตามข่าวที่ได้นำเสนอไปแล้วนั้น
ความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศูนย์ประสานงานพรรคเพื่อไทย ศรีสะเกษ เขต 2 อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ นายสุรชาติ ชาญประดิษฐ์ ส.ส.ศรีสะเกษ เขต 2 พรรคเพื่อไทย ส.ส.ขวัญใจประชาชนและเป็นนักต่อสู้เพื่อความถูกต้องได้กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ในฐานะที่ตนเป็นประชาชนชาวศรีสะเกษ และเป็น ส.ส.ศรีสะเกษ ตนมีความรู้สึกเห็นใจและมีความสงสาร น.ศ.ที่ต้องคุกเข่าร่ำไห้ไหว้ กยศ. พูดอ้อนวอนว่า ไม่ให้ กยศ.ติดสิทธิ์เงินกู้ยืมเรียนของกลุ่ม น.ศ.เป็นอย่างมาก เนื่องจากว่า น.ศ.กลุ่มดังกล่าวมาขอกู้เงินยืมเรียน และเป็นผู้กู้รายเก่า ไม่ได้มาขอเงินจาก กยศ.แต่อย่างใด เมื่อ น.ศ.กลุ่มนี้รวมทั้ง น.ศ.ทุกคนของสถาบันการศึกษาแห่งนี้เรียนจบแล้วก็ต้องไปทำงานหาเงินมาใช้หนี้ กยศ.ตามสัญญากู้เงินที่กำหนดไว้ ซึ่งตนเห็นว่า เงินค่าดำรงชีพเดือนละ 3,000 บาท เฉลี่ยวันละ 100 บาทนั้น ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของ น.ศ. ทำให้ น.ศ.จำนวนมากที่ครอบครัวมีฐานะไม่สู้ดีนักแต่อยากเรียนหนังสือ จึงต้องขวนขวายไปหางานนอกเวลาเรียนทำงานเพื่อหาเงินเป็นรายได้เสริมมาเพื่อใช้จ่ายในการเรียนของตนเอง ซึ่งแม้แต่ประเทศที่เจริญแล้วอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา น.ศ.จำนวนมากก็ต้องไปทำงานเพื่อหาเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายในการเรียนของตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีงาม เพราะว่าเป็นการช่วยเหลือตนเอง ทำให้ น.ศ.มีความเข้มแข็งสามารถที่จะดำรงชีพอยู่ในสังคมได้เป็นอย่างดี
นายสุรชาติ ชาญประดิษฐ์ ส.ส.ศรีสะเกษ เขต 2 พรรคเพื่อไทย กล่าวต่อไปว่า ท่านเศรษฐา ทวีสิน นายก รมต.และ รมว.กระทรวงการคลัง ได้มีแนวนโยบายว่า เด็ก ซึ่งเป็นอนาคตของชาติทุกคน ต้องได้เรียน ท่านจะขับเคลื่อนเรื่องลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาด้วยตัวเองมาตั้งแต่ก่อนเข้ามารับตำแหน่งนายกฯหลายปีแล้ว ปรารถนาที่จะเห็นเด็กไทยได้รับความเท่าเทียมในเรื่องนี้ โดยตั้งเป้าให้จำนวนเด็กที่ต้องหลุดระบบการศึกษาเป็น "ศูนย์" ซึ่งทันทีที่ท่านนายกฯเศรษฐา เข้ารับตำแหน่ง ท่านแจ้งว่า ได้สั่งการทันทีให้ "กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา" (กสศ.) DES และกระทรวงมหาดไทย บูรณาการรวบรวมข้อมูลนักเรียนที่หลุดจากระบบการศึกษา ให้เป็นฐานข้อมูล Big Data ขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย เพื่อนำไปสู่การช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่ต้องออกจากการศึกษากลางคัน จะมีข่าวดีที่จะเป็นก้าวสำคัญก้าวหนึ่งที่ประเทศไทยก้าวไปสู่ Thailand Zero Dropout ซึ่งภาพที่ น.ศ.คุกเข่าร่ำไห้ไหว้วอน กยศ.ขอเงินกู้ยืมไปเรียนหนังสือไม่น่าที่จะมีภาพนี้เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การศึกษาของชาติไทย ตนจะนำเอาข้อมูลเรื่องนี้ไปพบกับ นายก รมต.และ รมว.กระทรวงการคลัง เพื่อขอให้พิจารณาแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วนที่สุด เพราะว่า ปัญหาเรื่องเงินกู้ยืมเรียนของ น.ศ.นี้ รัฐบาลนำโดย ท่านเศรษฐา ทวีสิน นายกรมต.และ รมว.กระทรวงการคลัง พรรคเพื่อไทย ตนและคณะ ส.ส.พรรคเพื่อไทยทุกคน จะต้องพิจารณาหาทางแก้ไขช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนที่สุด เนื่องจากปัญหานี้ เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญของการศึกษาไทย หากเด็ก น.ศ.มีเงินหรือว่ามีครอบครัวฐานะดี น.ศ.ก็คงจะไม่ต้องมาคุกเข่าไหว้วอนขอกู้เงินจาก กยศ.แบบนี้ ส่วนการบริหารงานของกองทุนเงินให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา (กยศ.) นั้น ตนจะเสนอให้มีการตรวจสอบว่า การบริหารงานของ กยศ.เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งขึ้นหรือไม่อย่างไร เพราะเหตุใด กยศ.จึงมีข่าวในทางที่กระทบต่อจิตใจของ น.ศ.และชาวไทยทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง กยศ.ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างไร อีกทั้งเรื่องงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้ กยศ.นำเอาไปใช้จ่ายในการบริหารงานของ กยศ.นั้น เมื่อมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น คงจะต้องนำเอาเรื่องการจัดสรรงบประมาณให้ กยศ.มาพิจารณาทบทวนใหม่อีกครั้งว่า เหมาะสมหรือไม่เพียงใดอย่างไร
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ขณะที่บริเวณมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่ง เขต อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ กลุ่มเจ้าหน้าที่ของ กยศ.จำนวน 7 คน ที่พากันมาติดตามสัมภาษณ์ น.ศ.ที่มีปัญหาติดขัดไม่ได้รับการอนุมัติเงินกู้ยืมจำนวน 517 รายนั้น ปรากฏว่า ไม่มี น.ศ.มาพบกับเจ้าหน้าที่ของกองทุนเพื่อให้สอบถามข้อมูลประกอบการพิจารณาอนุมัติเงินกู้ยืมเรียนแต่อย่างใด โดยเจ้าหน้าที่ กยศ.จะยังคงพากันนั่งรอ น.ศ.จนกว่าจะถึงวันที่ 15 ม.ค.2567 ตามระยะเวลาที่ได้กำหนดเอาไว้ และจนกว่าจะมีคำสั่งจากหน่วยเหนือว่าจะให้ดำเนินการอย่างไรต่อไป