คนกาญจน์ ยกนิ้วให้ สส.กุ๊ก ภูมิใจไทย เขต 3 ประชุมถกงบประมาณ งงสโลแกนว่าการประปานครหลวง
5 ม.ค. 2567, 04:29
วันนี้ 4 ม.ค.66 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า นายยศวัฒน์ มาไพศาลสิน หรือ สส.กุ๊ก สส.กาญจนบุรี พรรคภูมิใจไทย เขต 3 ได้กล่าวขณะถกร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ที่รัฐสภาพว่า ตั้งแต่เมื่อวานมาจนถึงวันนี้ผมรู้สึกดีใจที่พี่น้องในสภาอันทรงเกียรติที่มีทั้ง สส.ของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน มีสิ่งที่อภิปรายในเรื่องที่ผมมองว่าเป็นเรื่องใหญ่และได้ติดตามมาโดยตลอดตั้งแต่เป็น สส.สมัยที่แล้วมาจนถึงสมัยนี้ นั่นก็คือเรื่องของกระทรวงมหาดไทย เรื่องแรกที่ผมติดตามมาโดยตลอดก็คือปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัยคือเรื่องการออกเอกสารสิทธิ์หรือออกโฉนดให้กับพี่น้องประชาชน ปัญหาต่างๆท่านสมาชิกในหลายๆพรรครวมทั้งฝ่ายค้าน ก็ได้มีการพูดถึงปัญหาเรื่องที่ดินทำกินเช่นกัน
เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ผมเองได้เปิดในเรื่องส่วนของงบประมาณดูว่าในปีนี้เป็นที่น่ายินดีคือกรมที่ดินได้งบประมาณเพิ่มขึ้นมามากถึง 7,229 ล้านบาท จากงบประมาณปี 2566 ได้เพิ่มขึ้นมาถึง 9.58% แต่ในส่วนที่ผมบอกว่าน่ายินดีนั้นเป็นเพราะว่ามันดีกว่าที่จะไม่ได้งบประมาณเพิ่มขึ้นมาเลย ขณะเดียวกันปัญหาและความต้องการของพี่น้องประชาชนคือเขาต้องการเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทำกินที่เขามีอยู่
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในวันนี้ประเทศไทยของเราเป็นประเทศเกษตรกร ซึ่งถือว่าเป็นส่วนใหญ่ของประเทศที่จะต้องใช้เงินในการลงทุน เมื่อไม่มีเงินลงทุนที่ดินของเกษตรกรก็จะตกเป็นเหยื่อของนายทุน เพราะการที่นายทุนจะมาลงทุนให้เกษตรกรก่อนนั้น จะต้องจ่ายทั้งค่ายาค่าปุยรวมทั้งค่าเมล็ดพันธุ์อีกทั้งจะต้องมีการเคลียริ่งเป็นค่าเริ่มต้นก่อนการดำเนินการ ซึ่งนายทุนล้วนจะต้องบวกค่าดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นไปด้วย
เรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องจริงซึ่งผมมั่นใจว่าพวกเราทุกคนที่อยู่ในสภาอันทรงเกียรตินี้รับรู้และสัมผัสได้ มันจึงเป็นส่วนที่จำเป็นเกี่ยวกับเรื่องเอกสิทธิ์ในที่ดินทำกินนอกจากตกเป็นเหยื่อของนายทุนแล้ว ซ้ำร้ายไปกว่านี้ประชาชนยังตกเป็นเหยื่อรัฐในข้อหาบุกรุกที่ดินของหลวง ดังนั้นจึงขอฝากไปถึงผู้บริหารประเทศในการพิจารณาเพิ่มงบประมาณให้กับกรมที่ดินด้วย
อีกหนึ่งเรื่องคือสิ่งที่ได้สัมผัสมากับตัวผมเองจากการที่เป็น สส.ในสมัยที่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องของกระทรวงมหาดไทยเช่นเดียวกัน แต่อยู่ในส่วนของเรื่องน้ำกินน้ำใช้ หรือน้ำที่ใช้ในการอุปโภคบริโภค คือการประปาส่วนภูมิภาค ที่มีสโลแกนว่า “น้ำคือชีวิต” ในส่วนของการประปานครหลวง มีสโลแกนอยู่เช่นเดียวกันว่า “ประปาดื่มได้”ซึ่งการประปานครหลวงนั้นมีแค่กรุงเทพฯและปริมณฑล ส่วนตัวผมเองก็มีที่อยู่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯเช่นกัน แต่ก็ยังไม่เห็นว่าน้ำประปานั้นจะดื่มได้ตามสโลแกนของการประปานครหลวงเลย
ผมขอพูดเกี่ยวกับเรื่องน้ำประปาในส่วนภูมิภาคจังหวัดกาญจนบุรีที่เป็นบ้านของผมก่อน ปีนี้ พ.ศ.2567 ผมทราบมาว่าความต้องการงบประมาณของประปาส่วนภูมิภาคทั้งประเทศ ที่บุคลากรของการประปาภูมิภาคมีนั้น มีศักยภาพที่สามารถจะทำได้และงบประมาณตั้งใจจะขอมาโดยประมาณที่ 1 หมื่นล้านบาท ที่ผมรู้ข้อมูลเพราะผมเป็น สส.มาแล้วถึง 4 ปี แต่งบประมาณปีละ 1 หมื่นล้านบาทนั้นสามารถนำไปใช้ได้เพียงแค่ 2.3 แสน ครัวเรือนเท่านั้น
แต่ในปีที่ผ่านมาการประปาส่วนภูมิภาคได้รับงบประมาณสนับสนุนเพียงแค่ปีละ 3 พันล้านบาทผมได้ถามในส่วนของการประปาภูมิภาคว่า งบ 3 พันล้านที่ได้มานำไปใช้แก้ไขปัญหาให้กับประชนตามแผนที่วางเอาไว้ได้กี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็ได้คำตอบว่าได้เพียงแค่ 20%เท่านั้น ขอยกตัวอย่างเช่นพื้นที่ตำบลดอนตาเพชร อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรีที่เป็นพื้นที่ของผม
ซึ่งทาง อบต.เขาต้องการยกโครงสร้างประปาของหมู่บ้านที่อยู่ในการกำกับของ อปท.ให้กับการประปา ซึ่งการประปาอยากจะรับแต่ปรากฎว่าการประปาส่วนภูมิภาคไม่มีงบประมาณ เรื่องนี้ผมเคยพูดในสภามาแล้วถึง 4 ปี แต่มาได้งบประมาณในปีสุดท้ายเพียง 40 กว่าล้านบาทเพื่อนำมาใช้ในพื้นที่ตำบลดอนตาเพชร
ถามว่าได้มา 40 ล้านจบหรือไม่ต้องขอบอกว่าไม่จบ เพราะงบที่ได้มา 40 ล้านบาทนั้นได้ทำเพียงแค่การขยายท่อส่งน้ำประปาไปยังบ้านเรือนของพี่น้องประชาชนที่มีบ้านเรือนอาศัยอยู่ริมถนนเท่านั้น แต่การขยายต่อเข้าไปภายในหมู่บ้านไม่มีงบประมาณ จึงทำให้ผมเข้าใจถึงงบประมาณที่การประปาได้รับ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนความต้องการของประชาชนได้
ดังนั้นเรื่องนี้ผมจึงขอฝากไปถึงรัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทยว่าถ้าจะทำทั้งทีก็ขอทำให้จบไปเลย และล่าสุดผมได้ดูแผนงบประมาณว่าในพื้นที่ตำบลดอนตาเพชร อ.พนมทวน จะได้งบประมาณเพื่อนขยายท่อประปาให้ครบทั้งหมู่บ้านและตำบลหรือไม่ ผลปรากฏว่าไม่มีผมจึงอยากรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น
ภาพรวมของการประปาในปีที่ผ่านๆมาได้งบประมาณเพียงแค่ 3 พันล้านบาทต่อปี แต่การประปาก็สามารถสร้างรายได้ให้กับการประปาถึงปีละ 3 พันกว่าล้านบาทเช่นเดียวกัน นั่งหมายถึงว่าลงทุน 100 บาทได้คืน 100 บาท แต่รัฐบาลกลับไม่ยอมลงทุนเพิ่ม ซึ่งกำไรที่การประปาได้มาส่งคืนให้เป็นรายได้ของประเทศ 50% หรือประมาณ 1.5 พันล้านบาท ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลมาลงทุนเพิ่มเพราะนอกจากจะช่วยแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนได้แล้วเงินที่ได้มาก็ไม่ได้หายไปไหน ภาษีของพี่น้องประชาชนก็ถูกส่งกลับมาให้เป็นรายได้ของประเทศถึง 50 เปอร์เซ็นต์ อีก 50 เปอร์เซ็นต์การประปาก็สามารถนำมาเป็นทุนตั้งต้นในการลงทุนต่อไปได้อีก นี่คือเรื่องของการประปาส่วนภูมิภาค
ในส่วนของการประปานครหลวง ผมไปเห็นช่องงบประมาณของการประปานครหลวงแล้วก็รู้สึกตกใจ เพราะการประปานครหลวงของบประมาณมาเพียงแค่ 29 ล้านบาทเท่านั้น ผมว่ามีจำนวนที่น้อยที่สุด น้อยกว่าที่ อบต.บ้านผมของบประมาณมาเสียอีก ผมจึงเกิดความสงสัยว่า การประปานครหลวงน่าจะมีรายได้เยอะ ซึ่งก็เยอะจริงๆ
งบประมาณในส่วนของการประปานครหลวงหลังหักกำไรออกไปแล้วยังจะมีการส่งไปสมทบให้เป็นรายได้ของรัฐอีก 1 พันกว่าล้านบาท ในขณะที่มีงบตกผลึกอยู่ถึง 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งผมก็รู้สึกดีใจที่การประปานครหลวงไม่ได้มาเบียดบังเอางบประมาณของประเทศชาติ
แต่บังเอิญผมเป็น สส.ที่ใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ จึงเคยได้ยินและได้ฟังว่า โครงการประปาที่ผมที่ยินมาและได้ตั้งข้อสังเกตเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน คืองบประมาณการก่อสร้างของการประปานครหลวงนั้นมีอยู่โครงการหนึ่งชื่อว่า “โครงการผลิตน้ำมหาสวัสดิ์”ขนาด 8 แสนคิว
ผมงงว่าบริษัทที่ประมูลงานได้อันดับที่ 1 คือประมูลในราคาต่ำสุดกลับไม่ได้งานที่ประมูล แต่บริษัทที่ได้กลับเป็นบริษัทที่ประมูลในราคาที่ไม่ต่ำสุด ส่วนต่างห่างกันกว่า 300 ล้านบาท เมื่อผมเห็นตัวเลขส่วนต่างซึ่งมันเป็นภาษีของพี่น้องประชาชนที่ไม่ใช่เฉพาะคนกรุงเทพฯแต่เป็นภาษีของคนทั้งประเทศไทย
จึงขอตั้งข้อสังเกตว่าทำไมบริษัทที่ประมูลในราคาต่ำที่สุดถึงไม่ได้งานประมูล นี่คือข้อสังเกตของผม และหากเป็นไปได้ขอให้เอาการประปาส่วนภูมิภาคและการประปานครหลวงนำมารวมกันได้หรือไม่เพื่อให้เป็นการประปาแห่งประเทศไทย เพราะในส่วนภูมิภาคยังคงต้องการใช้งบประมาณในการนำไปแก้ไขตามสิ่งที่พี่น้องประชาชนต้องการน้ำที่สะอาดและดื่มได้