เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



ครม.รับทราบภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสสามปี 66 และแนวโน้มปี 66-67


19 ธ.ค. 2566, 16:03



ครม.รับทราบภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสสามปี 66 และแนวโน้มปี 66-67




วันนี้ ( 19 ธ.ค.66 ) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีรับทราบภาวะเศรษฐกิจไทย   ไตรมาสที่สามของปี 2566 และแนวโน้มเศรษฐกิจไทย 2566 – 2567 ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ     และสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ ดังนี้
 
1. ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 3 ของ ปี 2566  เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2566 มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ขยายตัวร้อยละ 1.5  โดยแบ่งเป็น 1) ด้านการใช้จ่าย การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในเกณฑ์สูง การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนการส่งออกสินค้า การอุปโภคของรัฐบาล และการลงทุนภาครัฐปรับตัวลดลงต่อเนื่อง 2)  ด้านการผลิต สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารและสาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าขยายตัวในเกณฑ์สูง สาขาเกษตรกรรม สาขาการขายส่งและการขายปลีก และสาขาการก่อสร้างขยายตัว ส่วนสาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมลดลงต่อเนื่อง
 
2. แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2566 และ 2567   แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2566 คาดว่า GDP จะขยายตัวร้อยละ 2.5 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 2.6 ในปี 2565 อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 1.4 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 1.0 ของ GDP สำหรับปี 2567 คาดว่า GDP จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.7 – 3.7
 
3. การบริหารเศรษฐกิจมหภาคในปี 2567  แนวทางบริหารจัดการเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2566 และปี 2567 ควรให้ความสำคัญกับปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่  3.1 การดำเนินนโยบายการเงินการคลังอย่างเหมาะสมสอดคล้องกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ เช่น เพิ่มพื้นที่ในการดำเนินนโยบาย (Policy space) ให้มีความเพียงพอเพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระยะต่อไปและจัดลำดับความสำคัญในการใช้จ่ายภาครัฐควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ 3.2 การเตรียมมาตการเพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่น เตรียมมาตรการรองรับผลกระทบจากความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางในปัจจุบันที่อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ ที่สำคัญ ทั้งด้านแรงงาน ความผันผวนของราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์และต้นทุนภาคเกษตร 3.3 การขับเคลื่อนภาคการส่งออกสินค้า เช่น เร่งรัดการส่งออกสินค้าไปยังตลาดที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวดีและการสร้างตลาดใหม่ ใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค และอำนวนความสะดวกและลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก 3.4 การสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน เช่น ส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกผ่านยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (2566 – 2570) ส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมทั้งการขับเคลื่อนพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษในแต่ละภูมิภาค 3.5 การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง เช่น จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวและสร้างการรับรู้ต่อมาตรการ Long – term resident visa (LTR) เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ และส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศไทยโดยเฉพาะในจังหวัดท่องเที่ยวเมืองรอง   3.6 การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร เช่น ป้องกันและบรรเทาผลกรระทบจากภัยแล้ง เพิ่มส่วนแบ่งให้เกษตรกรมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตขั้นสุดท้าย และส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตและใช้ปุ๋ยและวัตถุดิบที่ผลิตในประเทศ และ  3.7 การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ เช่นเร่งรัดเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายเหลื่อมปีและงบลงทุนรัฐวิสาหกิจในช่วงที่พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ยังไม่มีผลบังคับใช้ และติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ









Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.