ไทยคว้าอันดับ 1 แชมป์ประเทศที่มีชั่วโมงเรียนยาวนานที่สุดในโลก
15 ธ.ค. 2566, 08:41
วันที่ 14 ธันวาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “World Population Review” ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ทำการสำรวจสำมะโนประชากรและสถิติประชากรของโลก ได้เผยข้อมูล 10 ประเทศที่มีชั่วโมงเรียนโดยเฉลี่ยมากที่สุดในหนึ่งวัน และเวลาเข้าเรียนจนถึงเลิกเรียนโดยประมาณ ประจำปี 2023 ซึ่งเป็นประเทศที่ World Population Review ทำการสำรวจจากเวลาเปิด-ปิด ของโรงเรียนแต่ละประเทศเป็นหลัก พบว่า ไต้หวัน - เรียน 10 ชั่วโมงต่อวัน (07:30-17:30 น.)
ตามมาด้วย ประเทศ จีน - เรียน 9.5 ชั่วโมงต่อวัน (07:30-17:00 น.) / ฝรั่งเศส - เรียน 8 ชั่วโมงต่อวัน (08.30-16.30 น.) / ชิลี - เรียน 8 ชั่วโมงต่อวัน (08.00-16.00 น.) / สหรัฐอเมริกา - เรียน 7.5 ชั่วโมงต่อวัน (7:30-15:00 น.) / เคนยา-เรียน 7.5 ชั่วโมงต่อวัน (08.00-15.30 น.) / สหราชอาณาจักร - เรียน 7 ชั่วโมงต่อวัน (08.00-15.00 น.) / แคนาดา- เรียน 6.5 ชั่วโมงต่อวัน (08.30-15.00 น.) / ออสเตรเลีย- เรียน 6 ชั่วโมงต่อวัน (08:45-15:00 น.) / รัสเซีย - เรียน 6 ชั่วโมงต่อวัน (08.00-14.00 น.)
แต่ถ้าทำการสำรวจด้วยระยะเวลาโดยรวมที่อยู่ในห้องเรียน หรือโรงเรียนกวดวิชาหลังเลิกเรียน โดยตัดเวลารับประทานอาหารกลางวัน ช่วงพักเที่ยง หรือช่วงพักอื่นๆ ของนักเรียนออกไป “World Population Review” ระบุว่า ผลที่ได้คือประเทศที่มีวันเรียนยาวนานที่สุด พบว่า ประเทศไทย เป็นประเทศที่มีชั่วโมงเรียนเฉลี่ยต่อวันยาวนานที่สุดในโลก โดยนักเรียนใช้เวลาในห้องเรียนเฉลี่ย 9 ชั่วโมง 30 นาทีต่อวัน ซึ่งนานกว่าประเทศอื่นๆ ตามมาด้วย กัมพูชา - เรียน 8.75 ชั่วโมงต่อวัน / บังกลาเทศ - เรียน8.5 ชั่วโมงต่อวัน / พม่า - เรียน 8.5 ชั่วโมงต่อวัน / ไต้หวัน - เรียน 8.5 ชั่วโมงต่อวัน / ชิลี - เรียน 8.33 ชั่วโมงต่อวัน / เกาหลีใต้ - เรียน 8 ชั่วโมงต่อวัน/ กานา - เรียน 8 ชั่วโมงต่อวัน / เนปาล - เรียน 7.75 ชั่วโมงต่อวัน และ เคนยา - เรียน 7.5 ชั่วโมง
เหตุผลหลักคือรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการศึกษาเป็นอย่างมาก เนื่องจากการศึกษาถือเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาศักยภาพพลเมืองภายในประเทศ ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและความก้าวหน้าของสังคมโดยรวม
ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งคือ การศึกษาไทยมีความเข้มงวดมาก นักเรียนไทยจะถูกกดดันให้เชี่ยวชาญวิชาต่างๆ มากมาย ทั้งภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ อังกฤษ และสังคมศึกษา นอกเหนือจากนี้นักเรียนไทยยังถูกคาดหวังให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมอีกหลากหลาย เช่น กีฬา งานจิตอาสา ดนตรี และศิลปะ เป็นต้น
ทั้งนี้ ข้อดีหลักของการมีชั่วโมงเรียนยาวนานคือ ทำให้มีเวลาในการสอนและการเรียนรู้มากขึ้น ซึ่งสามารถช่วยให้นักเรียนมีผลการเรียนโดยเฉลี่ยสูงขึ้นได้ แต่ ข้อเสียที่ตามมาคือนักเรียนอาจมีความเครียดและความเหนื่อยล้าสะสมเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีเวลาพักผ่อน ทำงานอดิเรก และกิจกรรมกับครอบครัวน้อยกว่าที่ควร ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพจิตและร่างกาย และอาจทำให้แรงจูงใจและการมีส่วนร่วมของนักเรียนลดลง เมื่อนักเรียนต้องอยู่ที่โรงเรียนเป็นเวลานาน และจะทำให้นักเรียนมีผลการเรียนที่ตกต่ำลง และมีทัศนคติเชิงลบต่อการมาใช้ชีวิตที่โรงเรียนได้ด้วยเช่นกัน