เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



พ่อแม่ต้องกู้เงินนอกระบบมาให้ลูกเรียนพยาบาล ขณะ นศ.ม.เฉลิมกาญจนากว่า 3,000 รายเศร้า กยศ.ไม่อนุมัติให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา


8 ธ.ค. 2566, 20:56



พ่อแม่ต้องกู้เงินนอกระบบมาให้ลูกเรียนพยาบาล ขณะ นศ.ม.เฉลิมกาญจนากว่า 3,000 รายเศร้า กยศ.ไม่อนุมัติให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา




ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  จากกรณีที่ นักศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์ ชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนาศรีสะเกษ จำนวน 20 คน ได้เข้าร้องทุกข์กับ นายบุญชวัฒน์ ปัญช์ณ์ญาแดง ผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรม จ.ศรีสะเกษ  เพื่อขอความช่วยเหลือเนื่องจากได้ยื่นเรื่องขอกู้เงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) นานถึง 8 เดือนแล้ว แต่ว่ายังไม่ได้รับการอนุมัติให้กู้เงินได้แต่อย่างใด ทำให้ได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากว่า ไม่มีเงินค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพและค่าเล่าเรียน ต่อมา  นายสุรชาติ  ชาญประดิษฐ์ ส.ส.ศรีสะเกษ เขต 2 พรรคเพื่อไทย และคณะ ส.ส.พรรคเพื่อไทย จ.ศรีสะเกษ ได้นำเรื่องความเดือดร้อนของนักศึกษาพยาบาลที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติเงินกู้จาก กยศ.เข้าแจ้งในที่ประชุมพรรคเพื่อไทย  ซึ่งคณะ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทย ได้ขอให้ผู้ใหญ่ของพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รมว.กระทรวงการคลัง ได้เร่งดำเนินการช่วยเหลือนักศึกษาพยาบาลดังกล่าวอย่างเร่งด่วนที่สุด ต่อมา ดร.เจตสุภา  ตันติพิษณุ ผอ.ฝ่ายกู้ยืม กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ได้นำคณะเจ้าหน้าที่ของฝ่ายกู้ยืม กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา มาทำการสัมภาษณ์ นศ.ทุกคนที่ขอกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา โดยจะสัมภาษณ์เฉพาะนักศึกษาที่ยังส่งเอกสารหลักฐานและรายละเอียดข้อมูลการขอกู้เงินในระบบขอกู้เงินยังไม่ครบถ้วน  โดยหากนักศึกษาคนใดข้อมูลไม่ครบถ้วนในส่วนใด ทางเจ้าหน้าที่ กยศ.ก็จะแจ้งให้ส่งเอกสารเพิ่มเติมให้ครบถ้วนโดยด่วน จากนั้น ทาง กยศ.ก็จะอนุมัติเงินกู้ให้ทันที  ตามข่าวที่ได้นำเสนอไปแล้วนั้น

ความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้  เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่มหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนา อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ นายเรืองศักดิ์  สุวารี  อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย นายชัยณรงค์  กัจฉปานันท์  ผจก.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา  ดร.นันทวัน  วงศ์ขจรกิตติ รองผู้จัดการ กองทุนฯ  ดร.นันทวัน  ดร.เจตสุภา  ตันติพิษณุ ผอ.ฝ่ายกู้ยืม กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา และตัวแทนจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นายบุญชวัฒน์ ปัญช์ณ์ญาแดง ผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรม จ.ศรีสะเกษ และคณะเจ้าหน้าที่ของ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้เดินทางมาเข้าร่วมประชุมกับ น.ส.ฐณิชา สาลีพันธ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนาศรีสะเกษ และคณะนักศึกษาทุกคนที่ได้ขอกู้เงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)  โดยมีตัวแทนของผู้ปกครองนักศึกษาส่วนหนึ่งมาร่วมประชุมเพื่อรับทราบปัญหาติดขัดเรื่องที่ กยศ.ไม่อนุมัติเงินกู้ยืมเรียนให้กับบุตรหลานของพวกตนด้วย โดยเจ้าหน้าที่ของ กยศ.ได้มีการนำเสนอปัญหาสาเหตุที่ไม่สามารถอนุมัติ เงินกู้ยืมให้กับนักศึกษาให้ที่ประชุมทราบ เช่น ไม่ระบุชื่อพ่อแม่และไม่ระบุข้อมูลต่าง ๆ  ในระบบ ทำให้ไม่มีข้อมูลประกอบการพิจารณา รวมทั้งเอกสารประกอบการขอกู้เงินไม่ครบถ้วน ทำให้ กยศ.ไม่สามารถอนุมัติให้กู้เงินได้ จากนั้นได้มีการสัมภาษณ์นักศึกษาที่ขอกู้เงินแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติจาก กยศ.ด้วย

น.ส.ฐณิชา สาลีพันธ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนาศรีสะเกษ  กล่าวว่า  ตามระเบียบปฏิบัติในการกรอกข้อมูลขอกู้เงินนั้น หาก กยศ.ต้องการให้กรอกข้อมูลในจุดใดก็ควรที่จะระบุให้ชัดเจน โดยข้อมูลในส่วนนี้ไม่ว่าจะเป็นบิดาหรือมารดาในระบบของ กยศ.ไม่ได้บังคับเอาไว้ เพราะฉะนั้นทำให้ผู้กู้มีสิทธิ์ที่จะเลือกว่าจะกรอกก็ได้หรือไม่กรอกก็ได้ เพราะฉะนั้นระบบถ้าจะบล็อกก็ควรจะบล็อกให้เขาด้วย เพราะว่าอย่างน้อยเด็กก็ไม่ได้มีความรู้หรอกว่า จะต้องกรอกข้อมูลทั้งหมดหรือไม่ แต่พอท้ายที่สุดหลังการพิจารณา กยศ.กลับเอาตัวนี้เป็นตัวตั้งต้นในการพิจารณาคุณสมบัติเพื่อให้รับสิทธิกู้ยืม  แต่ถ้าอยากให้เกิดความถูกต้องรบกวนทาง กยศ. เพิ่มก็ได้ เพื่อป้องกันความผิดพลาดของข้อมูลตนขอนำเรียนท่านผู้จัดการในส่วนนี้ด้วย ซึ่งบางครั้งในระหว่างที่ยังไม่มีเอกสารเนื่องจากว่าเด็กต้องเดินทางมาเรียนและไม่ได้มีเอกสารมาด้วยและจะมีเฉพาะบางคนที่มีเอกสารบางคนอยู่กับตากับยายอย่างเช่นเด็กคนนี้ไม่มีพ่ออยู่กับแม่ แต่ตอนอยู่นี้กับพี่สาว เมื่อพี่สาวเกิดวิกฤติก็ต้องได้ขายบ้านและในช่วงที่ต้องยื่นก็ต้องใช้เอกสารของผู้ปกครองคือของแม่ พี่สาวไม่สามารถให้เอกสารได้และห้วงเวลาที่ยื่นกู้หรือบางรายไม่ได้มีพ่อแม่แต่ในทะเบียนบ้านเป็นพ่อกับแม่อีกคนหนึ่ง เราก็ได้ถามว่าทำไมพ่อแม่เป็นชื่อหนึ่ง ได้มารู้  รู้ความจริงว่า บุคคลที่ตัวเองอยู่ด้วยไม่ใช่พ่อแม่ที่แท้จริงมันก็เกิดขึ้นได้ในหลายกรณี หาก กยศ.แจ้งว่าอันนี้คือประเด็นหลักในการพิจารณาระบบ กยศ. ก็ควรจะต้องบล็อกเอาไว้ด้วยเพื่อไม่ให้เด็กเกิดความผิดพลาด พอยกตัวอย่างกรณีนี้  พอเราต้องเค้นเอาข้อมูลจากเด็กพ่อแม่มีไหมลูกทุกคนก็ต้องมีพ่อแม่ แต่ว่าตอนนั้นเด็กอยู่กับใคร แต่ว่าบางท่านอาจจะไม่รู้หรอกเพราะว่าไม่เคยจนและไม่เคยอยู่กับพ่อกับแม่ เด็กทุกวันนี้อาศัยอยู่กับใครก็ได้ที่เขาเลี้ยงดูนั่นคือความอึดอัดที่เด็กจะต้องกระทำ



นายชัยณรงค์  กัจฉปานันท์  ผจก.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา กล่าวว่า วันนี้เราก็ได้ลงมาแก้ปัญหาและพบกับน้อง ๆ เพื่อดูว่ามีปัญหาอะไรบ้าง วันนี้ก็ได้บอกให้น้องๆได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องในระบบเพื่อให้ชัดเจนเราจะได้มาพิจารณาอนุมัติ ใครที่มีคุณสมบัติถูกต้องแล้วเราก็จะอนุมัติทุกคน เด็กนักศึกษาที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติขณะนี้เหลือไม่ถึง 2,000 คนซึ่งในวันนี้ข้อมูลที่ได้รับแล้วเราก็จะทยอยอนุมัติไปเรื่อย ๆสำหรับปัญหาของเด็กที่ยังไม่ได้รับการอนุมัตินั้น เกิดจากการที่ข้อมูลในระบบไม่ชัดเจนและมีข้อมูลบางอย่างที่ไม่สอดคล้องกันที่เราจะต้องลงมาแก้ปัญหา ซึ่งเพื่อให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับการกรอกข้อมูลในระบบวันนี้เจ้าหน้าที่ของ กยศ.จึงได้ลงมาให้คำชี้แจงและแนะนำในการกรอกข้อมูลในระบบได้อย่างถูกต้อง ตนขอฝากถึงพ่อแม่ผู้ปกครองของนักศึกษาทุกคนว่า กยศ.เราจะดูแลทุกอย่างให้กับน้องๆทุกคนใครที่มีคุณสมบัติถูกต้องเราก็พร้อมที่จะอนุมัติเงินกู้ให้ทุกคน เมื่อเราเคลียร์ข้อมูลเสร็จเรียบร้อยแล้วเราก็จะอนุมัติเงินกู้ทันที เมื่ออนุมัติแล้วน้องๆ จะได้รับเงินค่าครองชีพงวดแรกภายใน  7 วัน

นายชัยณรงค์  กัจฉปานันท์  ผจก.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา กล่าวต่อไปว่า ในปีนี้มีนักเรียนนักศึกษาขอกู้เงินจาก กยศ.จำนวนทั้งสิ้นประมาณ 700,000 กว่าคนเป็นเงินกู้ประมาณ 46,000 ล้านบาทในภาพรวมก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร ปีนี้เป็นปีที่มีผู้มาขอกู้เงินก็ยศอมากที่สุดนับตั้งแต่ตั้งกองทุนมา ส่วนกรณีของมหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนาที่นักศึกษาขอกู้เงินมานานถึงแปดเดือนแล้วแต่ยังได้รับอนุมัติเงินกู้นั้นจริงๆเรื่องนี้ขอเรียนว่ามีความไม่สอดคล้องด้านข้อมูลแล้วพบว่ามีผู้จำนวนมากที่มีงานทำแล้วเราก็ไปตรวจสอบทุกคนพร้อมทั้งได้มีการประสาน งานกับทางมหาวิทยาลัยเราพบว่าผู้รับรองรายได้รับรองถึง 600 กว่ารายซึ่งเราขอให้ทางมหาลัยได้ชี้แจงเรื่องนี้ ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีการติดต่อกันเป็นระยะแต่ว่ายังไม่ได้รับข้อมูลที่ชัดเจนพอในวันนี้เราจึงได้มาเพื่อที่จะให้ได้คำตอบคำตอบที่ชัดเจน

นายเรืองศักดิ์  สุวารี  อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ตนขอเรียนว่าท่าน             พ.ต.อ.เอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม  ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมากพอได้ข่าวว่าทางนักศึกษามหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนากู้เงินแล้วไม่ผ่าน คือไม่ผ่านและไม่อนุมัติหลายรายก็ได้หารือกันกับทีมของ กยศ.ซึ่งทาง กยศ.บอกว่า 1. ตัวเลขผู้ที่ขอกู้ยืมเงินเพิ่มขึ้นมากจาก 10,000 กว่ารายเป็น 20,000 กว่าราย เรื่องที่ 2. ก็คือเรื่องที่ผู้ใหญ่บ้านคนเดียวรับรองนักศึกษากว่า 600 คนเท่าที่คุยกันแล้วก็ทราบว่ารู้จักบ้างไม่รู้จักบ้างก็ช่วยกันไป ซึ่งเมื่อสักครู่นี้จากการที่เจ้าหน้าที่ได้สอบถามข้อมูลจากนักศึกษาแล้วคือพวกน้อง ๆ นักศึกษาก็ไม่ให้ข้อมูลเรื่องพ่อแม่พอไม่ให้ข้อมูลพ่อแม่ทาง กยศ. ก็อยากให้พ่อแม่ได้มีส่วนรู้ว่าลูกกำลังกู้เงินจาก กยศ. ไปเรียนก็แค่ส่งข้อมูลให้ วันนี้ทางมหาวิทยาลัยก็ได้แจ้งน้องๆให้เตรียมเอาเอกสารมาก็ขณะนี้ได้สอบสัมภาษณ์ข้อมูลเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพราะฉะนั้นก็อยากให้คุยกัน ข้อเท็จจริงของทั้ง 2 ฝ่ายก็คือ แค่เตรียมข้อมูลมาให้กับทางเจ้าหน้าที่ให้ครบ พอครบปั๊บก็เปิดระบบได้ทันทีก็สามารถผ่านการอนุมัติเงินกู้ได้ กยศ.ให้กู้เงินอยู่แล้ว ตนต้องไปทบทวนเรื่องเรื่องเกรดเฉลี่ยที่ได้ระบุเอาไว้ก็คือ เกรด  3  กว่ามันจะแข็งไปหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องนำกลับไปหารือกัน และเรื่องของรายได้ที่บอกว่า 360,000 บาทต่อปี ซึ่งน้องๆ นักศึกษาเข้าใจว่าต้อง 360,000 บาท นั่นคือค่าใช้จ่ายครอบครัวคือค่าใช้จ่ายของคนที่เป็นหนี้เป็นเรื่องที่คณะกรรมการซึ่งตนเชื่อว่าต้องเข้าไปทบทวนกัน เพราะฉะนั้นในวันนี้ตนคิดว่าทุกคนก็น่าจะชื่นใจน้องๆที่มาในวันนี้ได้เข้านั่งสัมภาษณ์กันหมดแล้ว

นายเรืองศักดิ์  สุวารี  อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กล่าวต่อไปว่า ตนขอเรียนว่าทั้งรัฐธรรมนูญและทั้งนโยบายของรัฐบาล นโยบายของกระทรวงยุติธรรมเด็กที่ตั้งใจเรียน สนใจที่จะเรียนต้องได้เรียน โดยมีกองทุน กยศ.เป็นกำลังทางด้านการเงินให้กับนักศึกษา เพราะฉะนั้นจึงอยากให้น้องๆทุกคนได้ศึกษานิดหนึ่งว่า การที่จะเข้ามาเป็นลูกหนี้ของ กยศ. ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง เตรียมข้อมูลอะไรบ้าง พี่สอนน้องและบอกน้องต่อๆไปก็จะทำให้ท่านขอกู้เงินรวดเร็วขึ้น อย่างน้อยตนก็เชื่อว่าทำให้การการกู้เงินเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ส่วนที่มีข่าวว่านักศึกษาที่ยื่นขอกู้เงินแล้วไม่ถูกต้องอาจจะมีความผิดนั้นเรื่องนี้ต้องดูที่ข้อเท็จจริง ไม่ถูกต้องเพราะอะไรซึ่งจะต้องดูเป็นรายๆไป ซึ่งหากว่าเป็นไปโดยทุจริตก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าเป็นไปโดยสุจริตอย่างวันนี้ไม่มีพ่อไม่มีแม่ก็บอกเจ้าหน้าที่ไปตรง ๆ เท่านั้น บางทีข้อมูลที่กรอกก็ไม่มีให้น้อง ๆ ได้กรอก ถ้าไม่มาดูก็ไม่รู้ว่ามีปัญหาอะไรบ้าง ซึ่งเราจะได้กลับไปปรับปรุงสิ่งที่บกพร่องให้ดีขึ้น

ทางด้าน นางสายใจ   อายุ 54 ปีแม่ของนักศึกษาพยาบาลคนหนึ่งบอกว่า ตนกู้เงินนอกระบบมาจำนวน 100,000 บาทเพื่อมาให้ลูกเรียนพยาบาลก็จะต้องส่งใช้เงินกู้เป็นปี ๆ ละ 30,000 บาท ขอส่งใช้หนี้  3 ปีกว่า การที่ตนตัดสินใจกู้เงินนอกระบบเพราะว่าต้องการให้ลูกได้เรียนพยาบาลกู้ได้แค่นี้ หากว่าไม่ได้เงินส่วนของ กยศ. ตนก็คงจะไม่สามารถให้ลูกได้เรียนต่อได้เพราะว่ากู้เงินนอกระบบได้เงินแค่นี้

นางกมลทิพย์   อายุ  43 ปี แม่ของนักศึกษาคนหนึ่ง บอกว่า ตนกู้เงินนอกระบบจำนวน 60,000 บาท เอามาส่งให้ลูกเรียนหนังสือ เพราะว่าอยากให้ลูกเรียนหนังสือ ดอกแพงมากแต่ว่ามันจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อนำเอามาเป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษาเล่าเรียนของลูกสาว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลล่าสุดของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ขณะนี้มีนักศึกษาที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติเงินกู้จำนวนทั้งสิ้น 6,823 ราย จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ กยศ.พบว่า มีนักศึกษาไม่ขอกู้เงินแล้ว จำนวน 73 ราย และจากการที่ กยศ.ได้ขอตรวจสอบข้อมูลจากกรมสรรพากร ประกันสังคม และองค์กรนายจ้างต่าง ๆ ที่รับนักศึกษาที่ขอกู้เงินไปทำงานแล้วพบว่า มีนักศึกษาที่ขอกู้เงินไปแล้วมีงานทำ จำนวน 2,443 ราย  สถานศึกษาแจ้งไม่ผ่านคุณสมบัติ จำนวน 504 ราย รวมนักศึกษาที่ยื่นเรื่องขอกู้เงินแล้วไม่ถูกต้องตามระเบียบซึ่ง กยศ.ไม่สามารถอนุมัติได้ จำนวนทั้งสิ้น 3,020 ราย ได้มีการอนุมัติให้กู้เงินแล้ว จำนวน 2,211 ราย ส่งเรื่องกลับไปแก้ไข จำนวน 4 ราย ส่วนนักศึกษา จำนวน 1,592 ราย กยศ.จะขอยกเลิกคำขอกู้เงิน หากนักศึกษามีความประสงค์จะกู้เงินให้ยื่นความประสงค์ขอกู้เงินเข้าไปในระบบใหม่อีกครั้ง







Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.