นายกฯ ปาฐกถาพิเศษหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 41 ยันไทยมีศักยภาพดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศ
19 พ.ย. 2566, 15:11
วันนี้ ( 19 พ.ย.66 ) เวลา 09.00 น. ณ ห้องภิรัชฮอลล์ 2-3 ชั้น 2 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 41 ในโอกาสครบรอบ 91 ปี หอการค้าไทย เรื่อง “The time to act is now พลิกวิกฤต ฟื้นเศรษฐกิจไทยให้ยั่งยืน” และรับข้อเสนอทางเศรษฐกิจจากหอการค้าทั่วประเทศ (สมุดปกขาว) ซึ่งจัดขึ้นเพื่อรวมพลังเครือข่ายหอการค้าทุกภาคส่วนตามแนวทาง Connect the dots ในการเชื่อมโยงความร่วมมือและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันไปสู่การพัฒนาเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน Connect – Competitive - Sustainable โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วย คณะกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ประธานหอการค้าจังหวัดและเลขาธิการหอการค้าจังหวัด ประธานหอการค้าต่างประเทศ นายกสมาคมการค้า ผู้ประกอบการรุนใหม่ YEC หอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ โดยนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวยินดีที่ได้มากล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 41 ในโอกาสครบรอบ 91 ปี หอการค้าไทยในวันนี้ โดยกล่าวถึงการเดินทางไปร่วมประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 30 (2023 APEC Economic Leaders’ Meeting) ระหว่างวันที่ 12-19 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ณ นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา และได้พบปะกับผู้นำประเทศต่าง ๆ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนชั้นนำของต่างประเทศ เช่น Facebook Tesla Google Microsoft ทำให้เห็นถึงศักยภาพประเทศไทยในหลายด้านทั้งเรื่องความพร้อมด้านคมนาคม โดยเฉพาะเรื่องของ Clean Energy ซึ่งเป็นนโยบายหลักของประเทศ เรื่อง Health Care โรงเรียน International ฯลฯ และสนใจที่จะมาลงทุนในไทยอย่างมาก ซึ่งประเทศไทยแม้จะเป็นประเทศเล็ก ๆ แต่ก็มีจุดยืนของตนเองด้านการค้าขายมาโดยตลอด โดยนายกฯ ย้ำวัตถุประสงค์การเดินทางไปเยือนต่างประเทศได้แสดงจุดยืนชัดเจนว่าไม่ได้ฝักใฝ่ฝ่ายใด แต่มาเพื่อค้าขายและเชิญชวนให้นักลงทุนมาลงทุนในไทยผ่านการได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่นักลงทุนจะได้รับ เช่น มาตรการสนับสนุนด้านภาษี และมาตรการต่าง ๆ ที่สามารถ Offer นักลงทุนต่างประเทศให้มาลงทุนในไทยได้ อย่างไรก็ตามในเรื่องของ FTA ยังล้าหลังอยู่ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาไทยมีการเจรจาเรื่องนี้น้อยมาก ซึ่งเรื่องของ FTA จะเป็นอีกหนึ่งวาระที่สำคัญของรัฐบาลนี้ที่จะเดินหน้าเต็มที่และทำให้เกิดผลโดยเร็ว ซึ่งจากการที่ได้เดินทางไปต่างประเทศ นายกรัฐมนตรีก็ได้มีการปูทางไว้แล้ว เช่น ที่ออสเตรเลียถึงแม้มีเรื่อง FTA แล้วแต่ก็จะมีการอัปเกรด FTA ขึ้นไปอีก และจะมีการขยายไปในอีกหลายประเทศต่อไปด้วย
นายกรัฐมนตรีกล่าวแม้หลายคนพูดถึงการเดินทางไปร่วมประชุมเอเปค ครั้งที่ 30 เราประสบความสำเร็จอย่างสูงนั้น นายกฯ ยังไม่มองแบบนั้น แต่มองว่าเรายังสามารถทำได้อีกมาก โดยพรุ่งนี้จะมีการนัดทีมที่ไปทำกันมาว่าแต่ละหน่วยงาน แต่ละกระทรวง กรม ต้องไปทำการบ้านอย่างไรต่อ เพื่อให้มั่นใจว่าการลงทุนนั้นเกิดขึ้นได้จริง ๆ รวมไปถึงการพัฒนาเรื่องเมืองรองของไทยซึ่งต่างประเทศก็ให้ความสนใจในเรื่องนี้ด้วย ไม่เฉพาะการท่องเที่ยวเมืองหลัก เช่น เชียงใหม่ กรุงเทพฯ พัทยา ภูเก็ต เท่านั้น เพราะต่างประเทศมองว่าหลายจังหวัดของไทยยังมีศักยภาพอยู่มากทั้งเรื่องวัฒนธรรม Soft Power และสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่ต้องการให้ไทยมีการพัฒนาให้มากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น เรื่องการพัฒนาสนามบินต่าง ๆ ของไทย ทั้งสุวรรณภูมิ ภูเก็ต พังงา เชียงใหม่ เป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเมกะโปรเจกต์ที่ต้องดำเนินการให้เกิดขึ้นตามแผน ทั้งนี้ หลายเมืองรองต้องมีการเตรียมความพร้อมในหลายมิติเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเที่ยวให้มากขึ้น ซึ่งทุกฝ่ายต้องช่วยกัน โดยสิ่งสำคัญคือระยะเวลาที่นักท่องเที่ยวมาอยู่ในเมืองไทย ดังนั้นการดึงให้นักท่องเที่ยวให้อยู่นานและไปท่องเที่ยวในเมืองรองด้วย ต้องมีการขยายระยะเวลาให้นักท่องเที่ยวอยู่ได้นานขึ้น ซึ่งมีการเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ ในทุกมิติรองรับด้วย ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ รวมถึงด้านการเดินทางคมนาคมขนส่งเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ ทั้งนี้ เห็นด้วยที่ทางหอการค้าแห่งประเทศไทยจะเริ่มขับเคลื่อนใน 4 เมืองรอง และขยายไปสู่จังหวัดอื่น ๆ ด้วย เพราะถือเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลนี้โดยจะพยายามทำให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยจะให้ทีมงานนัดเพื่อหารือกันในเรื่องดังกล่าวต่อไป เช่น เรื่องของ Incentive เมืองรองคืออะไร การสนับสนุนจากรัฐบาลที่ต้องการคืออะไร เป็นต้น
สำหรับกรณีเรื่องนโยบายเงิน Digital Wallet ที่มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยนั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงเมื่อวานนี้ (18 พ.ย. 66) ที่นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้แสดงความเห็นถึงเรื่องนี้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีย้ำว่าความจริงแล้วปัจจัยหลักอยู่แค่นี้ คือ เร่งด่วน จำเป็น วิกฤติหรือเปล่า ซึ่งก็มีบางคนเห็นว่า ไม่เร่งด่วน ไม่จำเป็น ไม่วิกฤติ แต่รัฐบาลนี้เห็นว่าเป็นเรื่องที่จำเป็น เร่งด่วน และสภาพเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะที่วิกฤติ ส่วนที่บอกว่าถ้าจะวิกฤติ ต้อง GDP ติดลบ ท่านพูดถูก ถ้าอย่างนั้นก็ไม่วิกฤติ แต่เราหรือประเทศไทยไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก เราอยู่บนโลกของการแข่งขันที่สูงมาก ถ้าย้อนกลับไปดูประเทศคู่แข่งของไทย เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ จะพบว่าตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศดังกล่าวขยายตัวไปเท่าไรในปีที่ผ่านมาเมื่อเปรียบเทียบกับไทย ซึ่งเชื่อว่าทุกคนทราบดีว่าไทยสามารถทำได้และไปไกลได้อีก ทั้งนี้ 9-10 ปีที่ผ่านมา การขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยเฉลี่ยต่ำกว่า 2% พักหนี้เกษตรกรไป 13 ครั้ง ซึ่งเกษตรกรเองก็อยากมีความภาคภูมิใจไม่ต้องมาพักหนี้ให้เขา เกษตรกรอยากจะมีตลาดใหม่ ๆ สำหรับนำสินค้าเกษตรไปจำหน่ายได้มากและราคาที่ดีขึ้น รวมถึงความต้องการมีนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาช่วยสนับสนุนเรื่องการเกษตร เพื่อสร้างผลิตผลที่สูงขึ้น เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเชื่อว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาลนี้ที่เข้ามาอาสาเข้ามาแก้ไขปัญหา รัฐบาลต้องพยายามทำให้ได้
นายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า เมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลก็ได้ดำเนินการดูแลประชาชนทุกกลุ่ม เช่น พักหนี้เกษตรกร การลดค่าไฟฟ้า การลดค่าน้ำมันเบนซินและดีเซล การสนับสนุน Short Quick Win การสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวด้วยการยกเว้นวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวจีน คาซัคสถาน อินเดีย และไต้หวัน ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นมาตรการเร่งด่วนของรัฐบาลที่ได้ดำเนินการแล้ว รวมไปถึงการดำเนินการเรื่องของการยกเว้น ตม.6 ซึ่งเป็นแบบฟอร์มที่นักท่องเที่ยวมาเลเซียจะสามารถเดินทางเข้ามาในไทยได้ง่ายขึ้น ทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวมาเลเซียเดินทางเข้ามาไทยเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในวันศุกร์-อาทิตย์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่วันละประมาณ 30,000 คน จากเดิมอยู่ที่ 10,000 คนต่อวัน สิ่งที่พูดเหล่านี้เพียงอยากย้ำว่า รัฐบาลนี้และรัฐมนตรีทุกคนทำงานหนัก ลงรายละเอียดทุกเม็ดเพื่อก่อให้เกิดผลทางเศรษฐกิจ ซึ่งดิจิทัลวอลเล็ตก็เป็นนโยบายหนึ่งของรัฐบาลเช่นกันที่จะทำให้เกิดผลทางเศรษฐกิจด้วย