เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



มท.1 จับมือ รมว.ทส. ขับเคลื่อนการจัดการขยะอาหาร พุ่งเป้าการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก


16 พ.ย. 2566, 14:59



มท.1 จับมือ รมว.ทส. ขับเคลื่อนการจัดการขยะอาหาร พุ่งเป้าการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก




วันนี้ ( 16 พ.ย.66 ) เวลา 09.00 น. ที่ห้องสีฟ้า ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.1) พร้อมด้วยพลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการขับเคลื่อนการจัดการขยะอาหารเพื่อรองรับเป้าหมายด้านการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกระทรวงมหาดไทย โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายศุภชัย ใจสมุทร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นางประเสริฐสุข เพฑูรย์สิทธิชัย ศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นายสมศักดิ์ สรรพโกศลกุล อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และนายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ผู้แทนหน่วยงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย สื่อมวลชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมพิธี

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะของประเทศ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2565 – 2570) เพื่อเป็นกรอบและแนวทางในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะมูลฝอยของประเทศควบคู่กับการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564 – 2573 สาขาการจัดการของเสียชุมชน เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติที่กำหนดให้ทั่วโลกลดปริมาณขยะอาหารลงครึ่งหนึ่ง ภายในปี พ.ศ. 2573 และต่อมา เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 คณะรัฐมนตรีได้มีมติกำหนดให้การจัดการขยะเป็นวาระเร่งด่วน เพราะปัญหาขยะเป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยของประชาชน

“กระทรวงมหาดไทยในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจหน้าที่ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขพี่น้องประชาชน และทำให้พี่น้องประชาชนมีความอุดมสมบูรณ์พูนสุขโดยถ้วนหน้า ได้มุ่งเน้นแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการขยะให้สอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยประสานและกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการบริหารจัดการขยะให้ครอบคลุมทั้งระบบ ไม่ให้เกิดการตกค้าง รวมทั้งจัดหาพื้นที่กำจัดขยะที่ถูกสุขลักษณะ โดยใช้วิธีกำจัดขยะที่เหมาะสมกับขยะแต่ละประเภทตามหลักวิชาการและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ต้องชื่นชมทีมงานของกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ได้ร่วมกันในการประเมินปริมาณคาร์บอนเครดิตจากถังขยะเปียกลดโลกร้อนซึ่งเป็นถังขยะเปียกระบบปิดที่สามารถนำคาร์บอนเครดิตคิดเป็นมูลค่าเงินที่สร้างรายได้กลับคืนสู่ท้องถิ่นในช่วงที่ผ่าน 2 ระยะ ใน 22 จังหวัด ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยยังคงเน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดในฐานะหุ้นส่วนความร่วมมือการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนมุ่งมั่นร่วมกันบูรณาการการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งระดับภูมิภาค ระดับท้องถิ่น และระดับชุมชนในการขับเคลื่อนการจัดการขยะอาหารเพื่อรองรับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน” นายอนุทินฯ กล่าว

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า บันทึกความร่วมมือนี้ จะก่อให้เกิดเป้าหมายความร่วมมือ
กันเกิดขึ้น ทั้งในชุมชนเมืองและชุมชนชนบทครอบคลุมทั้งประเทศโดยมีการจัดการขยะอาหาร เพื่อลดปริมาณ ขยะมูลฝอยที่ต้องกำจัด และทำให้ขยะมูลฝอยประเภทอื่นจัดการได้ง่ายขึ้น เพื่อรองรับเป้าหมายของประเทศ ด้านการลดก๊าซเรือนกระจกจากภาคของเสียชุมชน มีกลไกต้นแบบในการสร้างแรงจูงใจให้ภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคเอกชนเข้ามา มีส่วนร่วม เพื่อนำไปสู่การจัดการขยะมูลฝอยอย่างยั่งยืน

“สำหรับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ก็จะได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีการคัดแยกและเก็บขนขยะมูลฝอย แบบแยกประเภท โดยเน้นการบริหารจัดการขยะต้นทาง ประกอบด้วย ขยะอาหาร และขยะรีไซเคิล เพื่อรองรับ เป้าหมายด้านการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งร่วมติดตามประเมินผลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อทั้งพัฒนา ปรับปรุงกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนให้องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นสามารถบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายอนุทินฯ กล่าวเพิ่มเติม

พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และกระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาขยะอาหารที่เป็น “วาระเร่งด่วน” ซึ่งในปี 2564 ทส. ได้ดำเนินการสำรวจองค์ประกอบขยะมูลฝอย ณ สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยพบว่า มีสัดส่วนของขยะอาหารมากถึงร้อยละ 39 (9.68 ล้านตัน หรือ 146 กิโลกรัมต่อคนต่อปี) จากปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั้งประเทศ จำนวน 24.98 ล้านตัน โดยนำมาคำนวณเป็นปริมาณขยะอาหารที่เกิดขึ้นของประเทศ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีข้อมูล ณ ครัวเรือน และจากการสำรวจ ยังพบว่า องค์ประกอบของขยะอาหาร มีส่วนที่รับประทานได้ (Edible) ร้อยละ 39 และส่วนที่รับประทานไม่ได้ (Inedible) ร้อยละ 61 เพื่อให้การแก้ไขปัญหาขยะอาหารของประเทศมีประสิทธิภาพ

จึงจัดทำแผนที่นำทางการจัดการขยะอาหาร (ปี 2566 – 2573) และแผนปฏิบัติด้านการจัดการขยะอาหาร ระยะที่ 1 (ปี 2566 – 2570) เป็นกรอบการแก้ไขปัญหาขยะอาหารของประเทศ ตั้งเป้าหมายลดสัดส่วนของขยะอาหารในขยะมูลฝอยชุมชนจากร้อยละ 39 ลงเหลือไม่เกินร้อยละ 28 ภายในปี 2570 โดยมีมาตรการครอบคลุมตั้งแต่การลด หรือทิ้งให้น้อยลง ตั้งแต่การจำหน่าย การประกอบอาหาร การบริโภค โดยมุ่งให้เกิดการคัดแยกขยะอาหารจากต้นทาง และนำขยะอาหารไปใช้ประโยชน์ เช่น ใช้เป็นอาหารสัตว์ ผลิตพลังงานชีวภาพ ทำให้ลดการตกค้างของขยะที่เป็นแหล่งแพร่เชื้อโรค ลดมลพิษจากขยะ ลดการปล่อยก๊าซมีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากขยะอาหารเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก และให้เหลือขยะนำไปกำจัดให้น้อยที่สุด ซึ่งในปี 2565 มท. ส่งเสริมการจัดการขยะอาหารโดยใช้ถังขยะเปียก ลดโลกร้อน ซึ่งได้รับการรับรองว่าเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศโดยสมัครใจ ซึ่งสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซได้มากกว่า 1,870,000 กว่าตัน

“ข้อตกลงความร่วมมือนี้ จะก่อให้เกิดการบริหารจัดการขยะอาหารอย่างเป็นรูปธรรม โดยดำเนินการครอบคลุมทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง เพื่อลดปริมาณขยะมูลฝอยที่ต้องกำจัด และลดก๊าซเรือนกระจกจากภาคของเสียชุมชน ส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการคัดแยกและเก็บขนขยะมูลฝอยแบบแยกประเภท โดยเฉพาะขยะอาหารทั้งในชุมชนเมืองและชุมชนชนบท รวมถึงพัฒนากลไกในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการขยะอาหาร” พลตำรวจเอก พัชรวาทฯ กล่าวเพิ่มเติม

ด้านนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยในฐานะหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการบริหารจัดการขยะร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ได้ขับเคลื่อนการจัดการขยะอาหารผ่านครัวเรือน หมู่บ้าน ชุมชน ภายใต้โครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อน โดยมีประชาชนถึง 14 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการ ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการไปแล้วกว่าร้อยละ 99.6 โดยสร้างความยั่งยืนผ่านความร่วมมือของผู้นำทุกภาคส่วนและทุกภาคีเครือข่ายในการช่วยกันรณรงค์จัดทำให้เป็นแนวทางเดียวกันและทำอย่างต่อเนื่อง โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ปริมาณขยะอาหารจากถังขยะเปียกลดโลกร้อนได้รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) ว่าสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน 22 จังหวัด ได้กว่า 85,303 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า 

ทั้งนี้ คาดว่าภายในปี 2569 กระทรวงมหาดไทยภายใต้ความร่วมมือจากทุกฝ่าย จะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศถึง 1.8 ล้านตันเศษ และสร้างรายได้กว่า 20,000 ล้านบาท กลับสู่ท้องถิ่น ถือได้ว่าเป็นประเทศแรกในโลกที่สามารถประกาศความสำเร็จการจัดการขยะอาหารจากครัวเรือนเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและบรรลุเป้าหมายประเทศไทยที่ยั่งยืน ทั้งนี้ ภายใต้ความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ ของทุกภาคีเครือข่ายซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอเป็น “ผู้นำ” จนทำให้เกิดการบูรณาการประสบผลสำเร็จ สอดคล้องกับประกาศเจตนารมณ์ 76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ทุกจังหวัดได้ร่วมลงนามกับผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย และเราจะยังคงเดินหน้าดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ไม่ลดละ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและพี่น้องประชาชน ทำให้พี่น้องประชาชนมีความสุขในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมอย่างยั่งยืน

นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า บทบาทของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นั้นได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีการคัดแยกและเก็บขนขยะ มูลฝอยแบบแยกประเภท โดยเน้นการบริหารจัดการขยะต้นทาง ทั้งขยะอาหารและขยะรีไซเคิล เพื่อรองรับ เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก สำหรับขยะที่ไม่ใช่เศษอาหารได้ถูกนามาคัดแยกเพื่อนำไปรีไซเคิล โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีการจัดตั้ง กองทุนธนาคารขยะรีไซเคิล เปลี่ยนขยะให้มีมูลค่า เกิดเป็นรายได้ให้กับครัวเรือน หมู่บ้าน ชุมชน กว่า 1 พันล้านบาท ซึ่งรายได้ดังกล่าวจะถูกนาไปใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ของท้องถิ่น โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นมีแผน จะขยายผลไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง เพื่อเปลี่ยนวิถีชีวิตชุมชนไปสู่ความยั่งยืนต่อไป









Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.