กระทรวงอุตฯ เอาจริง! ยกระดับการจัดการกากอุตสาหกรรม โดยใช้ระบบ i-Industry เริ่ม พ.ย. นี้
9 พ.ย. 2566, 08:28
วันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นมา กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้ยกระดับการใช้งานระบบจัดการวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกบริเวณโรงงานให้ทันสมัยเป็นดิจิทัลเต็มรูปแบบ ผ่านระบบทะเบียนลูกค้ากระทรวงอุตสาหกรรมชื่อ “i-Industry” เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการกากอุตสาหกรรมตาม “ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2566” รวมถึงกฎหมายลำดับรองเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งมีผลบังคับใช้พร้อมกันตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 โดยยกเลิกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2548 เพื่อยกระดับการกำกับดูแลโรงงานให้ทันสมัย ถูกต้อง รวดเร็ว น่าเชื่อถือ ลดความซ้ำซ้อนจากการเก็บข้อมูลของแต่ละหน่วยงาน และอำนวยความสะดวกในการให้บริการแก่ผู้ประกอบการตามนโยบายรัฐบาลดิจิทัล (Digital Government)
ในระยะเวลา 1 สัปดาห์ของการใช้ประกาศกระทรวงฉบับใหม่ กระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้การสนับสนุนการปรับตัวของผู้ประกอบการที่ต้องย้ายจากการใช้ระบบเดิมมาสู่ระบบใหม่ด้วยหลากหลายแนวทาง รวมถึง การเพิ่มสมรรถนะของ Sever เพื่อรองรับการถ่ายโอนข้อมูลในปริมาณมหาศาล การจัดตั้งศูนย์ให้คําปรึกษาแนะนําแก้ไขปัญหาทั้งทางโทรศัพท์ (War Room) ที่ กรอ. จำนวน 10 คู่สาย และการจัดตั้งทีมงานเฉพาะกิจเร่งดําเนินการยืนยันตัวตนของผู้ประกอบกิจการ
“รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการโรงงาน จึงได้ปรับปรุงประกาศฉบับนี้ ที่นำหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายหรือเป็นผู้รับผิดชอบ (Polluter Pays Principle: PPP) มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ กำหนดความรับผิดตั้งแต่ต้นทางโรงงานผู้ก่อกำเนิด ไปจนกว่าสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วจะได้รับการจัดการจนแล้วเสร็จ ต่างจากเดิมที่ความรับผิดชอบจะสิ้นสุดเมื่อโรงงานผู้รับกำจัดได้รับมอบสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว โดยหากมีการฝ่าฝืนไม่รายงานหรือรายงานล่าช้ามีโทษปรับสุงสุด 20,000 บาท” นางรัดเกล้า กล่าว
ทั้งนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ “ศูนย์บริการให้คำแนะนำการใช้ระบบกากอุตสาหกรรม” ทางหมายเลขโทรศัพท์ 0 2430 6980 เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถขออนุญาตและส่งรายงานเข้าสู่ระบบได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ตามนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรม “MIND ใช้หัวและใจ ปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน” ขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างสมดุลและยั่งยืน