เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)




กรมสมเด็จพระเทพฯ เสด็จฯ ทรงเปิด "ศูนย์เลิศพนานุรักษ์" บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด จังหวัดระยอง


7 พ.ย. 2566, 08:38





กรมสมเด็จพระเทพฯ เสด็จฯ ทรงเปิด "ศูนย์เลิศพนานุรักษ์" บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด จังหวัดระยอง



เวลา 14.43 น. วันที่ 6 พ.ย. 66  สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปบริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด อำเมือง จังหวัดระยอง ทรงเปิด "ศูนย์เลิศพนานุรักษ์" ซึ่งสร้างขึ้นบนพื้นที่สถานีแอลเอ็นจี มาบตาพุด แห่งที่ 2 เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านพลังงาน และพื้นที่สีเขียวของชุมชน โดยได้พระราชทานชื่อ "ศูนย์เลิศพนานุรักษ์" หมายถึง ศูนย์เรียนรู้อันเป็นเลิศด้านการอนุรักษ์ป่า และพระราชทานชื่ออาคารโดมจัดแสดงพืชเมืองหนาวว่า "อาคารนิทรรศน์พรรณพฤกษา" หมายถึง อาคารจัดแสดงพันธุ์พืชชนิดต่าง ๆ โดยพระราชทานพระราชานุญาต ให้เชิญพระนามาภิไธย "สธ" ประดับที่ป้ายชื่ออาคาร

การออกแบบฯ เป็นแนวคิดระหว่างอุตสาหกรรมและธรรมชาติ ได้แก่ แนวคิด Zero waste คือ พลังงานและของเสียที่เกิดจากอุตสาหกรรม จะถูกจัดการให้ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติน้อยที่สุด และนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด รวมถึงการใช้พลังงานทดแทน เช่น พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์


 


การพัฒนาพื้นที่ศูนย์เลิศพนานุรักษ์ อยู่บนพื้นฐานของการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรม จากการศึกษาระบบนิเวศดั้งเดิมพบว่า พืชที่เหมาะสม คือ พืชป่าชายหาด ป่าพรุ ป่าเสม็ด และพืชชายน้ำ โดยบริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด ได้คัดเลือกพรรณไม้ท้องถิ่นกว่า 500 ชนิด ผสมผสานหลักการ "การปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง" รวมทั้งอนุรักษ์และคงระบบนิเวศดั้งเดิม เพื่อให้เกิดความหลากหลาย และสร้างระบบนิเวศให้มีความใกล้เคียงกับป่ามากที่สุด คาดหวังว่าในอนาคตศูนย์เลิศพนานุรักษ์ จะเติบโตและฟื้นฟูเกิดเป็นระบบนิเวศที่สมบูรณ์ พร้อมเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านพลังงาน และเชื่อมโยงสร้างความใกล้ชิดและการอยู่ร่วมกันของอุตสาหกรรมและชุมชน

โอกาสนี้ ทอดพระเนตรนิทรรศการ อาทิ ภาพรวมการดำเนินธุรกิจสถานี LNG เพื่อสนองนโยบายภาครัฐ ที่ให้ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) จัดหาแหล่งก๊าซธรรมชาติเหลวให้ทันต่อความต้องการใช้พลังงาน ตลอดจนสร้างเสถียรภาพ และความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ จึงจัดตั้ง บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด เมื่อปี 2547 เพื่อให้บริการสถานีแอลเอ็นจี ปัจจุบัน มีสถานีแอลเอ็นจี 2 แห่ง กำลังการผลิตรวม 19 ล้านตันต่อปี สำหรับ LNG เป็นก๊าซที่สะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นำมาใช้ประโยชน์เพื่อเป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการต่าง ๆ อาทิ การผลิตกระแสไฟฟ้า เชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์และในโรงงานอุตสาหกรรม

อาคารนิทรรศน์พรรณพฤกษา ออกแบบภายใต้แนวคิดอาคารประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยนำความเย็นจาก LNG มาใช้แทนระบบปรับอากาศ ได้รับรางวัลอาคารเขียว ระดับ Platinum ระดับสูงสุดของรางวัลอาคารเขียวไทย จัดแสดงไม้เมืองหนาวที่ปลูกและดูแลรักษาให้เจริญเติบโตจากการนำพลังงานความเย็นเหลือใช้จากกระบวนการแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลว เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพต่อยอดด้านการเกษตร อาทิ ดอกทิวลิปหลากสีหลายพันธุ์ จากประเทศเนเธอร์แลนด์ และนิวซีแลนด์, ดารารัตน์ และไฮเดรนเยีย รวมทั้งวาซาบิ และสตรอว์เบอรี่ เปิดให้เข้าเยี่ยมชมได้ตลอดทั้งปี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อคืนประโยชน์ให้แก่สังคมและเสริมสร้างการท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัด

ส่วนห้องควบคุมศูนย์ปฏิบัติการ (CCR) หรือ Central Control Room มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการตลอด 24 ชั่วโมง ใช้ระบบควบคุมการผลิตแบบอัตโนมัติทั้งหมด สามารถควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ในกระบวนการผลิต ผ่านกล้อง CCTV รวมถึงสามารถตรวจตราการปฏิบัติงาน ณ ท่าเทียบเรือที่อยู่ไกลจากฝั่งที่ยาว 5 กิโลเมตร เมื่อมีการรับขนถ่าย LNG จากเรือเข้าสู่ถังเก็บ LNG ระบบควบคุมแบบอัตโนมัตินี้ ทำให้พนักงานปฏิบัติการสามารถปฏิบัติการได้อย่างทันท่วงที หากมีเหตุฉุกเฉิน
 










©2018 ONBNEWS. All rights reserved.