เย้ยกฎหมายบ่อนพนันบิงโกปาเป้าเต็มหน้า อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ ห่างโรงพักเพียง 200 เมตร เด็กเข้าไปเล่นพนันกันอย่างโจ่งครึ่ม
12 ต.ค. 2566, 20:04
เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีผู้ปกครอง น.ร.และประชาชนชาว อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ ร้องเรียนผ่านสื่อมวลชนว่า มีการเล่นพนันบิงโก ปาเป้า ยิงเป้า เต็มพื้นที่บริเวณสนามหน้าที่ว่าการ อ.ขุขันธ์ซึ่งกำลังมีการจัดงานรำลึกพระยาไกรภักดี ประเพณีแซนโฏนตา บูชาหลักเมือง ลือเลื่องกล้วยแสนหวี ประจำปี 2566 ผู้สื่อข่าวจึงได้ลงพื้นที่เข้าไปตรวจสอบตามที่ได้รับร้องเรียน เมื่อไปถึงพบว่า ที่บริเวณลานอนุสาวรีย์พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน (ตากะจะ) อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ กำลังมีพิธีเปิดงาน ซึ่ง อ.ขุขันธ์ ได้จัดงานนี้ขึ้นในระหว่างวันที่ 7 – 15 ต.ค.2566 โดยมี นายอนุพงศ์ สุขสมนิตย์ ผวจ.ศรีสะเกษ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน ชาว อ.ขุขันธ์ ได้จัดเครื่องเซ่นไหว้มาประกอบแซนโฎนตาจำนวนมาก โดยมี นายอนุรัตน์ ธรรมประจำจิตร รอง ผวจ.ศรีสะเกษ พร้อมด้วย นายพงษ์ธร จันทร์สวัสดิ์ นายอำเภอขุขันธ์ นายสืบสวัสดิ์ สืบสายพรหม นายกเทศมนตรีตำบลเมืองขุขันธ์ นำคณะข้าราชการพ่อค้า ประชาชนให้การต้อนรับ
จากการตรวจสอบภายในบริเวณงานพบว่า ได้มีพ่อค้าแม่ค้าพากันแอบมาเปิดร้านเล่นพนันปาเป้า ปาโป่ง ยิงเป้า ปาลูกดอก และเปิดร้านพนันบิงโก จำนวนประมาณ 15 ร้าน โดยได้ปล่อยให้เด็กและเยาวชนเข้าไปเล่นพนันกันอย่างโจ่งครึ่มไม่เกรงกลัวกฎหมาย โดยที่ตั้งของร้านปาเป้า ปาโป่ง บิงโก จะอยู่บริเวณด้านหน้าที่ว่าการ อ.ขุขันธ์ อยู่ห่างจาก สภ.ขุขันธ์ ประมาณ 200 เมตรเท่านั้น มีการนำเอาตุ๊กตาตัวใหญ่จำนวนมาก มีสีสันสวยงามมาแขวนอยู่หน้าร้านเพื่อเป็นการล่อตาล่อใจให้เด็กและเยาวชนรวมทั้งวัยรุ่นหนุ่มสาวพากันเข้าไปเล่นพนันปาเป้า ปาโป่ง ยิงตุ๊กตา ยิงเป้า เล่นพนันบิงโก เพื่อหวังที่จะเอาตุ๊กตาตัวใหญ่กลับไปบ้านด้วย มีบรรดาเจ้าของร้านร้องตะโกนเชิญชวนให้เด็ก ๆ และเยาวชนเข้าไปเล่นพนันทุกประเภทอย่างโจ่งครึ่ม
โดยมีการสอนวิธีการเล่นพนันบิงโก ซึ่งเด็กๆจะพากันเข้าไปนั่งประจำโต๊ะและเล่นพนันบิงโกกันอย่างสนุกสนาน ขณะที่การเล่นปาเป้าจะกำหนดราคาตามขนาดตัวตุ๊กตา เช่น 3 ดอก 20 บาท แตกเบิ้ลนับ 1, 1 ชุด 20 บาท, 3 ชุด 50 บาท, ปาไม่ติดรับตุ๊กตา 3 ดอก 50 บาท โยนตก 1 กระป๋องรับ 1 ตัว 20 บาท ปาลูกดอง 1 ลูก 20 บาท 4 ดอก 20 บาทลูกดอกไม่เด้ง ยิงเป้า 10 ลูก 20 บาท 30 ลูก 50 บาท เป็นต้น มีเด็กและเยาวชนพากันเข้าเล่นพนันกันเป็นจำนวนมาก โดยไม่มีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบควบคุมดูแล และไม่พบว่า บรรดาเจ้าของร้านได้มีการนำเอาใบอนุญาตให้เปิดเล่นพนันบริเวณนี้มาติดไว้ในที่สามารถมองเห็นได้แต่อย่างใด ขณะที่บรรดาร้านปาเป้า ปาโป่ง บิงโก ซึ่งบรรดาเจ้าของร้านบ่อนพนันได้ประกาศว่า งานนี้เคลียร์กับคนมีสีทุกระดับแล้ว ขอให้เล่นพนันกันอย่างสบายใจได้ และประกาศเชิญชวนให้เข้ามาเล่นพนันได้อย่างเต็มที่
นายเก้า (นามสมมุติ) อายุ 42 ปี ผู้ปกครอง น.ร.ชาว อ.ขุขันธ์คนหนึ่งกล่าวว่า ตนไม่ทราบว่า เพราะเหตุใดในการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่นี้ จึงปล่อยให้เด็ก น.ร.และเยาวชนเข้าไปเล่นพนันกันอย่างเปิดเผยแบบนี้ อีกทั้งตนไม่ทราบว่า ผู้มีอำนาจอนุญาตได้มีการอนุญาตให้มีการเล่นพนันในการจัดงานนี้ซึ่งเป็นงานสำคัญของ อ.ขุขันธ์จ.ศรีสะเกษ ได้จริงหรือไม่อย่างไร เนื่องจากว่า ตนได้ไปตรวจสอบทุกร้านที่เล่นพนันดูแล้ว หากมีการขออนุญาตเล่นพนันจริง ก็ควรที่จะนำเอาใบอนุญาตมาปิดไว้อย่างเปิดเผยว่าได้รับอนุญาตให้เล่นพนันได้แล้ว เรื่องนี้ ตนจะได้ร้องเรียนไปยัง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นายอนุทิน ชาญวีรกุล รมว.กระทรวงมหาดไทย และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. เพื่อขอให้ลงมาตรวจสอบเรื่องนี้ด้วยว่า มีการดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือไม่ หากมีใครเข้าไปเอี่ยวมีผลประโยชน์ในทางมิชอบ ขอให้ดำเนินการทางวินัยและอาญาสถานหนักด้วย เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างที่ไม่ดีอีกต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อไปว่า การปล่อยให้มีการจัดการเล่นการพนันเอาทรัพย์สินกัน โดยทั้งผู้จัดและผู้เล่นในสถานที่ของทางราชการนั้น เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายมาตรา 4 และมาตรา 4 ทวิ ประกอบมาตรา 5 และมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.การพนัน 2478 ซึ่งตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.2478 มาตรา 12 ได้บัญญัติว่า “ผู้ใดจัดให้มีการเล่น หรือทำอุบายล่อ ช่วยประกาศโฆษณา หรือชักชวนโดยทางตรง หรือทางอ้อม ให้ผู้อื่นเข้าเล่น หรือเข้าพนันในการเล่น ซึ่งมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน หรือรับอนุญาตแล้ว แต่เล่นพลิกแพลง หรือผู้ใดเข้าเล่น หรือเข้าพนันในการเล่น อันขัดต่อบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎกระทรวงนั้น” ลักษณะยิงเป้า ปาลูกโป่ง บิงโก เป็นการพนันบัญชี ข. มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป จนถึง 3 ปี ปรับตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไปจนถึง 5,000 บาท
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า โดยเฉพาะเจ้าภาพในการจัดงานต้องรับผิดชอบต่อความผิดดังกล่าวทั้งทางอาญาและทางวินัยด้วย อีกทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นถึงประธานคณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัด ตามมาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก 2546 ที่กำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ หรือผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่อยู่ในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ ไม่ว่าเด็กจะมีผู้ปกครองหรือไม่ก็ตาม รวมทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ต้องควบคุมดูแลเด็กและเยาวชนให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ 2550 อีกด้วย